Automotive info

'บริดจสโตน'นำร่องความปลอดภัยถนน Bridgestone Global Road Safety



ภูเก็ต- (1 ธันวาคม 2564) - บริษัท ไทยบริดจสโตน จํากัด ขานรับจัดทำโครงการ “Bridgestone Global Road Safety (บริดจสโตน โกลบอล โรด เซฟตี้)” กิจกรรมเพื่อสังคมของกลุ่มบริษัทบริดจสโตนทั่วโลกตามนโยบาย Our Way to Serve นำร่องเป็นประเทศแรก โดยร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเครือข่าย มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Global Road Safety Partnership) และภาคีในพื้นที่ สร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และความสำคัญของการรักษากฎวินัยจราจรสู่เด็กและเยาวชน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่โดยอิงผลจากงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ร่วมกับปัจจัยแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ พร้อมแนวทางปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบโรงเรียนให้ปลอดภัยตามมาตรฐานของ iRAP โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับมัธยมศึกษาตอนปลายพร้อมส่งเสริมให้เป็นเยาวชนแชมเปี้ยนด้านความปลอดภัยบนท้องถนนของ บริดจสโตน (Bridgestone Road Safety Youth Champions) เพื่อส่งต่อสังคมขับขี่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ประกาศเปิดโครงการครั้งแรก ณ โรงเรียนกะทู้วิทยา จังหวัดภูเก็ต

มร.เคอิจิ ชูมะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด เผยว่า “ตามรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลก (WHO-World Health Organization) อุบัติเหตุกว่าครึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนบนท้องถนน ทั้งคนเดินเท้า นักปั่นจักรยาน และผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ดังนั้น บริดจสโตนจึงจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลักดันให้เกิดการเดินทางที่ฉลาดขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ผ่านโครงการ “Bridgestone Global Road Safety”  ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่บริดจสโตนทั่วโลกร่วมกันจัดขึ้น ตามนโยบาย Our Way to Serve ที่มีสามเสาหลัก คือ Mobility, Environment และ People เพื่อเสริมสร้างสังคมขับขี่ปลอดภัย ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของกลุ่มบริษัท บริดจสโตนทั่วโลกที่นำร่องจัดทำโครงการนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก ในปี พ.ศ. 2558 – 2560 เป็นอันดับ 2 ของโลก* และในปี พ.ศ. 2561 ได้ถูกปรับลดลงเป็นอันดับ 9 ของโลก** อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุทางถนนจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนาน และสมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยการสนับสนุนกระบวนการจัดการการเรียนรู้ในสถานศึกษาในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อการสร้างจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และความสำคัญของการรักษากฎวินัยจราจรสู่เด็กและเยาวชน โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ขับขี่จักรยานยนต์เป็นประจำ รวมทั้งประเมินพื้นที่รอบ ๆ เพื่อให้แนวทางปรับปรุงถนนรอบโรงเรียนให้มีความปลอดภัยแก่นักเรียน คุณครู ผู้ปกครองและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบตามมาตรฐานของ International Road Assessment Programme (iRAP)1 โดยความร่วมมือของภาคีในพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลเมือง โรงเรียน และพันธมิตรทางธุรกิจของบริดจสโตน เป็นต้น เพื่อลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากการจราจรทางบกตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งการดำเนินงานในครั้งแรกนี้มุ่งเป้าไปที่ 4 โรงเรียนในเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภูเก็ต นครสวรรค์ เชียงราย และขอนแก่น และตั้งเป้าจะดำเนินโครงการนี้ให้ได้ปีละ 4 โรงเรียนตลอดระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้สำหรับจังหวัดภูเก็ต บริดจสโตนขอขอบคุณ คุณเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา พังงา ภูเก็ต ระนอง เทศบาลเมืองกะทู้ โรงเรียนกะทู้วิทยา และ ศูนย์บริการรถยนต์ ค็อกพิท มานิตย์ เซ็นเตอร์ แม็กซ์ ในการสนับสนุนโครงการ “Bridgestone Global Road Safety” ในครั้งนี้”

 คุณธนารักษ์ กาญจนขันธกุล ผู้จัดการฝ่ายสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “โครงการ “Bridgestone Global Road Safety” ครั้งแรกนี้ มีระยะเวลาดำเนินตั้งแต่กันยายน 2021 – เมษายน 2022 พื้นที่เป้าหมาย คือ โรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต นครสวรรค์ เชียงราย และขอนแก่น จังหวัดละ 1 โรงเรียน ซึ่งวัตถุประสงค์และกิจกรรมหลัก ๆ จะประกอบด้วย

  • School-Base Education: การจัดแผนการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะตามหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมด้านการจราจรในแต่ละพื้นที่โรงเรียนโดยผู้เชี่ยวชาญจาก กลุ่มงานพัฒนามาตรการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค มาประกอบร่วมกับผลวิจัยด้านพฤติกรรมของบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้มาปรับใช้ในชีวิตจริง รู้วิธีประเมินและจัดการความเสี่ยงในแต่ละสถานการณ์ พร้อมกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ถนนที่ปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียนเป้าหมายในรูปแบบของเกมการแข่งขัน หรือการรณรงค์วันความปลอดภัยการจราจร
  • Empowerment: เพิ่มขีดความสามารถของเยาวชนที่เปี่ยมด้วยพลังและความกระตือรือร้นในฐานะผู้สนับสนุนความปลอดภัยทางถนนในชุมชนท้องถิ่นของตน สร้างเยาวชนแชมเปี้ยนด้านความปลอดภัยของบริดจสโตน (Bridgestone Road Safety Youth Champions) รุ่นแรก เพื่อปลูกฝังภาวะผู้นำและความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนน โดยจะคัดเลือกนักเรียน 2 คนจากโรงเรียนเป้าหมายแต่ละแห่ง รวม 8 คนเข้าร่วมหลักสูตรอบรมเร่งรัดเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนในกรุงเทพฯ สนับสนุนให้เข้าไปมีบทบาทแสดงความคิดเห็นในงานด้านความปลอดภัยทางถนนระดับชาติ ต่อยอดสร้างสรรค์กิจกรรมด้านความปลอดภัยและส่งต่อแนวคิดไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปในชุมชน
  • Road Safety Assessments (RSAs): การประเมินเขตความปลอดภัยของโรงเรียนในเชิงลึกโดยเครื่องมือและมาตรฐานของ iRAP และใช้หลักความรู้ด้านวิศวกรรมจราจรที่โรงเรียนเป้าหมาย เพื่อกำหนดการปรับปรุงที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยบนทางเท้าและการจราจรในละแวกใกล้โรงเรียนให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการประเมินความปลอดภัยของถนนโดยใช้เครื่องมือการให้คะแนนระดับดาวสำหรับโรงเรียน (Star Rating for School - SR4S) ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยการประเมินระดับความปลอดภัยบนท้องถนน มีมาตรฐานระดับดาวคือ 0-5 ดาว2 ซึ่งจะพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของถนน ประกอบกับสภาพของการจราจร โดยพิจารณาจากมิติของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า โดยบริดจสโตนจะเลือก 1 โรงเรียนในทุกปี เพื่อทำการปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบโรงเรียน ให้ได้มาตรฐาน 3 ดาวขึ้นไป
  • Local engagement: หลังจากการประเมินเขตความปลอดภัยแล้วจะมีการประสานงานกับภาคีในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียนเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยการใช้ถนนในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างยั่งยืน”

บริดจสโตนเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัยบนท้องถนนมาโดยตลอด อาทิ โครงการเสริมสร้างวินัยจราจร สู่ความปลอดภัยในทุกการเดินทาง และโครงการ B-Safe บริดจสโตนขับขี่ปลอดภัย ทำใบขับขี่รถยนต์วันเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น สำหรับโครงการล่าสุด “Bridgestone Global Road Safety” เป็นการร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรเครือข่าย มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Global Road Safety Partnership) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่อยู่ภายใต้สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of the Red Cross and Red Crescent Societies - IFRC) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างขีดความสามารถและการฝึกอบรมแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางถนน มีส่วนร่วมในการรณรงค์และประสานงานโครงการความปลอดภัยทางถนนในระดับโลก และเป็นแหล่งความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนที่เป็นที่ยอมรับ

1iRAP เป็นหน่วยงานการกุศล (Registered Charity) ที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศในกลุ่มยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยร่วมงานกับองค์กรหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการกำหนดเกณฑ์นานาชาติเพื่อยกระดับถนนให้มีความปลอดภัยภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถเข้าใจตรงกันทุกประเทศ ในปัจจุบัน Road Assessment Programmes ได้ถูกนำไปใช้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนในการปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน เช่น United Nations Road Safety Trust Fund หรือ World Bank ต่างให้ความสำคัญที่จะสนับสนุนก่อสร้างเส้นทางใหม่ หรือปรับปรุงเส้นทางเดิมให้มีค่า Star Rating ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป (3-star or better) ซึ่งมีหลายประเทศที่สามารถลดการชนทางถนนลงเหลือหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ระหว่างปีพ.ศ. 2523 ถึงปีพ.ศ. 2556 เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน เดนมาร์ค ได้ใช้แนวคิดระบบที่ปลอดภัย หรือ Safe system ซึ่งถือว่าร่างกายมนุษย์เปราะบางต่อแรงกระทบกระแทกจากการชนและมนุษย์มีความผิดพลาดพลาดพลั้งได้เสมอ ดังนั้น ระบบ Safe System จึงสร้างปัจจัยปลอดภัยที่เอื้อต่อคน รถ ถนน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการจัดการให้เกิดความเร็วที่ปลอดภัยกับบริบทของพื้นที่ โดยมีมาตรการด้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งให้การศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย การมียานพาหนะปลอดภัยซึ่งปัจจุบันมีมาตรฐานที่เรียกว่า New Car Assessment Programme (NCAP) สำหรับด้านถนนปลอดภัย International Road Assessment Programme (iRAP) ก็เป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้ถนนปลอดภัยมากขึ้น

 2มาตรฐานการประเมินถนน iRAP เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถใช้เป็นมาตรวัดระดับความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ของถนน ประกอบกับสภาพของการจราจร โดยพิจารณาจากมิติของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า ถนนที่ได้คะแนนความเสี่ยงต่ำในระดับ 5 ดาวจัดเป็นถนนที่มีความปลอดภัยสูงสุด และถนนที่ได้คะแนนความเสี่ยงสูงในระดับ 1 ดาวจะเป็นถนนที่มีความปลอดภัยต่ำสุด ซึ่งมาตรฐานและค่าเป้าหมายของถนนที่ปลอดภัยที่นานาชาติยอมรับควรอยู่ที่ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป