In Thailand

กฟภ.MOUพัฒนาเรือไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ 



ราชบุรี-กฟภ.ร่วมกับหน่วยงาน 9 หน่วยงาน ทำพิธีลงนาม MOU  พัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่ออส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ คาดจะส่งเรือต้นแบบภายในเดือน ม.ค.ปีหน้า 

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ วัดโชติทายการาม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) การพัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบสำหรับเรือหางยาวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีคลองอย่างยั่งยืน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด ราชบุรี,กฟภ.,ททท.,อพท.,กรมเจ้าท่า,กรมการท่องเที่ยว,อำเภอดำเนินสะดวก,ทต.ดำเนินสะดวก,กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

โดยมีนายภาณุมาศ ลิ้มสุวรรณ รองผว.กฟภ.เป็นตัวแทนกฟภ. พร้อมด้วย นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผวจ.ราชบุรี, พล.อ.ภาณุวัชร นาควงษม์ กก.อพท., นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว, นางปาลิกา อภิโชครุ่งเรือง นายกทต.ดำเนินฯร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย 

ซึ่งการพัฒนาเรือหางยาวไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งนี้ เกิดจากความต้องการของคนในชุมชนที่แจ้งต่อรมต.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ว่าต้องการเรือไฟฟ้าเพราะเสียงและควันที่เกิดจากเรือให้บริการนักท่องเที่ยว สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ และขอความร่วมมือจัดทำเรือไฟฟ้าต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อมาวิ่งให้บริการนักท่องเที่ยว และจะเป็นต้นแบบเรือการท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยมลพิษมลภาวะต่อไป

โดยได้รับความร่วมมือครั้งนี้จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้สนับสนุนการจัดทำเครื่องยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบ ตั้งแต่ปี 2564 - 2568 ปีละ 5 ลำ ลำละ 250,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,250,000 บาท รวม 5 ปีจำนวน 25 ลำ ซึ่งเรือไฟฟ้าสามารถวิ่งโดยใช้เวลา 4 ชม.ระยะทาง 10 กม.ความเร็ว 20กม.ต่อชม. และในเดือนม.ค.ปี65 คาดว่าจะส่งมอบเรือไฟฟ้าจำนวน 5 ลำแรก ให้แก่เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวคลองดำเนินสะดวก เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาเรือนำเที่ยวในคลองดำเนินสะดวกต่อไป

นายแก้ว ปลั่งแสงไพบูลย์ อายุ 80 ปี ชาวบ้านในพื้นที่อ.ดำเนินสะดวก ที่นำเรือหางยาวพลังงานแสงอาทิตย์มาทดลองรับนักท่องเที่ยวเป็นรายแรกของอ.ดำเนินสะดวก ได้เปิดเผยว่า เรือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นนั้นมีประโยชน์มากในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเรือพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ในการขับเคลื่อน ปราศจากเสียงรบกวน ไม่ก่อมลภาวะทางเสียง และควันไอเสีย ซึ่งเรือสามารถชาร์ตไฟบ้านได้ ในกรณีไม่มีแสงแดด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่เน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวทางน้ำในรูปแบบใหม่

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี