Biz news
KBank Private Bankingชี้ความสำเร็จ ที่ปรึกษาลงทุนเผย18กองทุนเป็นบวก
KBank Private Banking ประกาศความสำเร็จผลงานที่ปรึกษาการลงทุน ชูผลตอบแทนสินทรัพย์ทางเลือก ‘Private Equity’ และ ‘หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง KIKO’ 12-18% ต่อปี* พร้อมโชว์ 18 กองทุนผลตอบแทนบวก นำโดย 3 ธีมลงทุนเด่น พาพอร์ตลูกค้าโตฝ่ามรสุมโควิด สานต่อกลยุทธ์ 3S ผสานความเชี่ยวชาญการลงทุน ต่อเนื่องในปี 2565
กรุงเทพฯ-KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวท แบงกิ้ง) ประกาศความสำเร็จโชว์ผลงานที่ปรึกษาด้านการลงทุน จากความพยายามในการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าท่ามกลางสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน แนะนำสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity) และ ตราสารอนุพันธ์แฝงแบบ KIKO พร้อมโชว์ 18 กองทุนที่มีผลตอบแทนเป็นบวก จาก 25 กองทุนที่แนะนำในพอร์ต K-ALPHA กับ 3 ธีมลงทุนเด่น อย่าง Winner of the new economy, Policy Driven for Better World และ Laggard & Cyclical Upturn ทำให้พอร์ตการลงทุนที่แนะนำลูกค้าเติบโต ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 พร้อมประกาศสานต่อกลยุทธ์ 3S ใช้การลงทุนเป็นตัวนำและเป็นกรณีศึกษาช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าจากการเติบโตใหม่ (New ‘S’ Curve) สร้างความยั่งยืน (‘S’ustainability) ให้กับสิ่งแวดล้อม และสร้างความสุขให้กับสังคมผ่านการแบ่งปัน (‘S’haring)
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ไพรเวท แบงกิ้ง กรุ๊ป เฮด (Private Banking Group Head) ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดการลงทุนตลอดปี 2564 ไม่สดใสเท่าที่ควร หลังตลาดหุ้นโลกรีบาวด์แรงไปแล้วในช่วงไตรมาส 2-4 ปี 2563 ตลอดปี ตลาดลงทุนอ่อนไหวต่อข่าวสาร และสถานการณ์ความไม่แน่นอนมากขึ้น จากแนวโน้มที่ตลาดปรับตัวแบบ Bumpy Bend หรือมีการปรับขึ้นลงในกรอบแคบๆ และมีความผันผวนสูง ตามที่ธนาคารเคยคาดการณ์ ตลาดหุ้นโลกโดยรวมก็ยังปรับตัวขึ้นได้จากแรงหนุนของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตดี ล่าสุดตลาดก็กลับมาตื่นตระหนกอีกครั้ง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น จากสาเหตุหลักที่ว่าแม้ว่าโอมิครอนจะแพร่ระบาดได้ง่ายแต่อาการไม่รุนแรง
ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนได้ติดตามสถานการณ์ตลาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้า นอกเหนือจากคำแนะนำให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้แล้ว ธนาคารได้แนะนำให้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง +17.5%*** ต่อปีตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในช่วงกลางปี 2563 รวมถึงแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ควบอนุพันธ์ (KIKO) ที่อ้างอิงกับตะกร้าหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงถึง 12-23% ต่อปี ในกรณีที่หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงเชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุนด้วยหลักการกระจายความเสี่ยงทั้งใน Core และ Satellite โดย 18 จาก 25 กองทุนที่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนใน K-ALPHA สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น แบ่งเป็น 4 จาก 5 ใน Core port ที่เน้นกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์หลักทั่วโลก และจัดสรรการลงทุนแบบคำนึงถึงความเสี่ยง และ อีก 14 จาก 20 กองทุนใน Satellite นำโดย 3 ธีมการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น
- Winner of the new economy (ผู้ชนะในยุคเศรษฐกิจใหม่) เช่น กองทุน K-CHANGE (+11.9%)** ลงทุนในบริษัทที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามเป้าหมายของ UN กองทุน K-HIT (+18.8%)** ลงทุนในธุรกิจแห่งโลกอนาคตที่ได้รับอิทธิพลจาก Megatrends และ กองทุน ONE-UGG (+6.4%)** ลงทุนในธุรกิจที่มีนวัตกรรมหรือการปรับตัวเพื่อตอบรับกับผู้บริโภคในอนาคต
- Policy Driven for Better World (ธุรกิจที่มีนโยบายขับเคลื่อนเพื่อโลกที่ดีกว่า) เช่น กองทุน K-CLIMATE (+14.3%)** ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ กองทุน K-GINFRA (+9.5%)** ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ ที่ได้รับอานิสงค์จากแผนการพัฒนาโครงสร้างครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีไบเดน
- Laggard & Cyclical Upturn (กลุ่มธุรกิจที่เติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ) เช่น กองทุน K-EUROPE (+28.8%)** ลงทุนในหุ้นยุโรปที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น กลุ่มเทคโนโลยี และ เฮลท์แคร์ กองทุน K-EUSMALL (+23.0%)** ลงทุนในบริษัทขนาดเล็กในตลาดยุโรป เช่น ภาคอุตสาหกรรม การเงิน อุปโภคบริโภค และเทคโนโลยี กองทุน ONE-GLOBFIN (+17.6%)** เน้นกระจายการลงทุนหุ้นในกลุ่มการเงินที่มีคุณภาพทั่วโลก และ กองทุน K-JP (+10.0%)** เน้นลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดขนาดและหมวดอุตสาหกรรม
ในปี 2565 ธนาคารแนะนำ 10 กลยุทธ์การลงทุน ได้แก่
- เพิ่มเงินสดในพอร์ตเพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น จากความไม่แน่นอน โดยเฉพาะทิศทางการดำเนินนโยบายของ FED ท่ามกลางราคาของหลายๆ สินทรัพย์ที่เริ่มตึงตัว หากตลาดมีการปรับฐานก็สามารถใช้โอกาสการเข้าซื้อในราคาที่ต่ำลง
- ลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถชดเชยราคาที่จะถูกกดันจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นได้
- ตลาดหุ้นยังน่าสนใจลงทุน หนุนโดยกำไรสุทธิที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
- แนะนำลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือ หุ้น Value หรือหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักรหรือ หุ้น Cyclical เช่น กลุ่มการเงิน ที่ราคาพื้นฐานยังคงน่าสนใจ
- ลงทุนในหุ้นกู้ตลาดเกิดใหม่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในเอเชีย ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ในประเทศพัฒนาแล้ว
- ประเมินค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้น สวนทางกับค่าเงินยูโร
- ลดสัดส่วนการลงทุนในทองคำ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่สูงขึ้นจะกดดันราคาทองคำ
- เน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก (Active) มากกว่าลงทุนตามดัชนี (Passive) โดยปรับกลยุทธ์การลงทุนอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะตลาด
- ความผันผวนถือเป็นโอกาสในการลงทุน
- การลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainability) เป็นกุญแจสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นให้กับพอร์ตการลงทุน
โดยธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งธนาคารจะยังคงปรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ยั่งยืน
นอกเหนือจากผลงานในการให้คำแนะนำด้านการลงทุน ธนาคารยังให้บริการครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่
- บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว (Family Wealth Planning Service) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายครอบครัวเริ่มเปิดรับและเห็นความสำคัญในการวางแผนบริหารสินทรัพย์ครอบครัวมากขึ้น ทั้งแผนระยะสั้นเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไปจนถึงแผนการในระยะยาว โดยในปี 2565 มีแผนที่จะเพิ่มบริการในเรื่องการช่วยจัดตั้งสำนักงานครอบครัว (Family Office) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจธุระและธุรกรรมต่างๆ งานด้านสาธารณกุศล (Philanthropy) โดยนำองค์ความรู้จากพันธมิตร Lombard Odier มาปรับใช้เพื่อยกระดับองค์กรสาธารณกุศลของไทย รวมถึงการให้ความรู้ลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนตามความชอบ (Passion Investment) เช่น การสะสมงานศิลปะ พระเครื่อง เป็นต้น
- บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) พบว่า ลูกค้ายังกังวลเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากที่ดินกว่า 90% ที่ลูกค้าถือครองเป็นที่ดินที่ยังรอและยังไม่พร้อมพัฒนา ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราสูง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ Land Loan for Investment จึงได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก และยังเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธนาคาร โดยในปีนี้มีลูกค้ากว่า 145 รายให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ โดยอนุมัติวงเงินไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 9 พันล้านบาท
- บริการที่ปรึกษาและโซลูชั่นนอกตลาดทุน (Non-capital Market Solutions) ที่ได้ให้คำแนะนำลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจผ่านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการขยายกิจการและต่อยอดกำไร โดยเป็นตัวกลางในการเจรจาในการระดมทุน โดยในปีนี้ ได้ช่วยระดมทุนให้ธุรกิจ SME ของลูกค้าไปกว่า 4.5 พันล้านบาท รวมไปถึงการให้คำแนะนำการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์นอกตลาด (Private Equity) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุน
การดำเนินธุรกิจ KBank Private Banking ในปี 2564 ยังเติบโต โดยมีจำนวนลูกค้าประมาณ 13,000 ราย สินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปี 2563 ที่ 3% และ 6% ตามลำดับ ภายในสิ้นปี 2564 คาดว่าจะมีสินทรัพย์ลงทุนรวมประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 68% โดยเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและ/หรือมีความซับซ้อน (Sophisticated asset) ถึง 1.5 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 2563 ถึง 16% และคาดว่ารายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมการลงทุนจะเติบโตถึง 27% นอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับ 14 รางวัล จาก 9 สถาบันระดับสากลทั่วโลกการันตีและตอกย้ำความเป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ชั้นนำของประเทศไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล อาทิ รางวัล Best Private Bank ของประเทศไทย จากหลายสถาบัน เช่น The Asset Triple A, PWM/The Banker Global Private Banker และ Finance Asia รวมถึง รางวัลด้านดิจิทัล เช่น Best Private Banking for Digital Marketing & Communication in Asia จาก PWM Wealth Tech Awards 2021 และ Digital Private Banking of the Year – Thailand จาก The Asset Triple A: Digital Awards 2021 จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการทำงาน สนับสนุนการให้บริการลูกค้า รวมถึงใช้เป็นช่องทางสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ธนาคาร ยังได้รับ Thailand – Best for ESG (Environment Social Governance) จาก Asia Money ซึ่งถือว่า ธนาคารเป็นผู้นำในเมืองไทยที่เน้นมิติในด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการอย่างโปร่งใส
สำหรับปี 2565 ธนาคารยังคงสานต่อกลยุทธ์ 3S ต่อเนื่อง โดยมี 2 พันธกิจสำคัญ คือ 1) การส่งมอบบริการที่ครบถ้วนและคำปรึกษาการลงทุนเพื่อพาพอร์ตลงทุนลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืน 2) นำความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ผลักดันและส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และ สังคม ผ่านกลยุทธ์ 3S ได้แก่ S แรก-New S-Curve เปิดโอกาสต่อยอดความมั่งคั่งให้กับลูกค้า จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่า HNWIs มีความกังวลต่อการลงทุนในยุค Post COVID-19 เป็นโอกาสสำคัญให้ธนาคารนำเสนอการลงทุนทางเลือก อย่างการลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตผ่านทางกองทุนรวมและหุ้นนอกตลาด S ที่สอง-Sustainability แนะนำการลงทุนด้วยเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ยั่งยืน เพื่อโอกาสการลงทุนที่ดีกว่า จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่าบุคคลสินทรัพย์สูง (HNWIs) ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนก่อนตัดสินใจลงทุนและเชื่อว่าจะสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าได้ S ที่สาม-Sharing ผสานร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรสาธารณกุศล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลูกค้าที่ต้องการจัดตั้งมูลนิธิของครอบครัว โดยให้คำแนะนำด้านการลงทุนและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายและมีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจให้ความก้าวหน้า สร้างโลกที่ยั่งยืน และสร้างสังคมที่มีความสุข