In News
กพร.ระดมกึ๋นกู้ซากเหมืองเก่าอุ้มเกษตร แย้มหนุนทำเหมืองโพแทชเอาเกลือทำปุ๋ย
กรุงเทพฯ-วงการเหมืองแร่ สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกของเมืองไทย ทุกหน่วยงานหันหน้าคุยกัน จัดเสวนา“เหมืองแร่กับการพัฒนาเกษตรกรรม : วิถีใหม่สู่อนาคต” และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “เหมืองแร่ยุคใหม่กับการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและยกระดับการประสานความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขึ้นกล่าวเปิดงานเสวนา “เหมืองแร่กับการพัฒนาเกษตรกรรม : วิถีใหม่สู่อนาคต” และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “เหมืองแร่ยุคใหม่กับการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 25 พ.ย.63 ณ ศูนย์เผยแพร่ความรู้และให้บริการ ชั้น 1 อาคาร กพร.
งานเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของวงการทำเหมืองแร่ที่จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนภาคการลงทุน เกษตรกรและผู้แทนจากชุมชนในแต่ละจังหวัดที่มีการลงทุนทำเหมืองแร่ เพื่อพูดคุยและร่วมมือในการลดทอนปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตให้ปรับตัวเข้าหากันและอยู่ร่วมพึงพากันได้อย่างเหมาะสม
สำหรับการเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยนายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง(นายวิจักษ์ พงษ์เภตรา) ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (ผตร.อก.สุระ เพชรพิรุณ) รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (นายสุริยน พัชรครุกานนท์) ผู้บริหารกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณี กรมที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาการเหมืองแร่ ผู้ประกอบการเหมืองแร่ เป็นต้น
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่างานเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและยกระดับการประสานความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการเหมืองแร่กลุ่มหนึ่งกับผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างอีกกลุ่มหนึ่ง
ที่มองการณ์ไกลว่าการรวมตัวกันเป็นองค์กรตามกฎหมายจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคราชการและภาคเอกชน ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับสมาชิกที่ประสบปัญหาหรือเดือดร้อน และนำเสนอแนวทางพัฒนากิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ซึ่งก็เป็นกลไกของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นเกิดการชะลอตัวไปตามภาวะเศรษฐกิจของโลก แต่จากผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกก้าวเข้าสู่ยุค New Normal ซึ่งเป็นยุคที่ทุกคนรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งในกลุ่มคนในประเทศและการออกไปต่างประเทศ โดยต้องนำเอาหลักการของ Physical DistancingหรือSocialDistancing มาใช้ในการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนยุค New Normal ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีการลงทุนด้านกายภาพ (Physical Investment) ไปอย่างมหาศาล เช่น สนามบิน สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเจอปัญหาตามสภาพในปัจจุบันเพื่อให้การลงทุนด้านกายภาพของไทย สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จึงต้องมีนวัตกรรมหรือแนวคิดที่สามารถดึงให้ประชาชนกลับมาใช้สิ่งที่ลงทุนดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาภาคเศรษฐกิจ หรือส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าและบริการภายในประเทศจากการลงทุนดังกล่าวได้อย่างคุ้มค่า
รวมทั้งหากไม่สามารถส่งออกสินค้าออกไปต่างประเทศได้ อาจต้องสร้างนวัตกรรมที่สามารถส่งมอบบริการหรือ content ต่าง ๆ ออกไปขายยังต่างประเทศ เพื่อเป็นรายได้ของประเทศต่อไป จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องกลับมาคิดในเรื่องการบริหารจัดการเชิงนโยบายของภาครัฐว่าจะเพิ่มบทบาทและส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรม กับภาคเกษตรกรรม เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ในเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็กำลังพิจารณาแนวทางการเชื่อมโยงกับภาคเกษตรด้วยเช่นกัน
นายอดิทัต กล่าวว่าในส่วนการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีปัจจัยหลักอยู่ 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1) สภาพพื้นที่ 2) แหล่งน้ำ 3) ดิน และ 4) ปุ๋ย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่สามารถดำเนินการสนับสนุนปัจจัยการผลิตของภาคเกษตรกรรมดังกล่าวในหลายประการ เช่น
การพัฒนาพื้นที่ / ปรับปรุงพื้นที่ให้เอื้อต่อการพัฒนาเกษตรกรรม
ในปัจจัยด้านสภาพพื้นที่นั้น ตามธรรมชาติแล้วแหล่งแร่ “เลือกที่เกิดไม่ได้” โดยจะเกิดร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เช่น อยู่ในพื้นที่ป่า เขา ทะเล ฯลฯ และเกิดได้ทั้งที่ที่เป็นของรัฐ และที่ที่เป็นของเอกชน ตลอดจนอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในบางพื้นที่ก็อาจไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรม เมื่อแร่มีแหล่งกำเนิดที่ใดแล้วมีความคุ้มค่า/มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ก็จะทำเหมืองแร่ในบริเวณนั้น การจะเข้าทำเหมืองในแหล่งแร่บางแห่งได้จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่เสียก่อนที่จะเข้าไปพัฒนาแหล่งแร่ เช่น ทำถนน พัฒนาโครงข่ายสายไฟฟ้า หรือบางครั้งก็ต้องมีการสร้างแหล่งน้ำขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเหมืองแร่ก่อนที่จะได้ผลิตแร่ออกมา
อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองแร่เองแม้เกือบทั้งหมดจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิทัศน์ไปจากเดิม แต่ก็ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกันโดยจะต้องมีการวางแผนการพัฒนาตั้งแต่ก่อนการทำเหมืองและต้องตอบสนองความต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชน เช่น จากพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรมเพาะปลูกไม่ได้ แต่ภายหลักจากมีการทำเหมืองแล้วจะมีการฟื้นฟูสภาพดินในบริเวณนั้นให้สามารถเพาะปลูกได้ รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากถนนหนทางที่พัฒนาขึ้นในช่วงระหว่างการทำเหมืองไปใช้ในการลำเลียงขนส่งผลิตภัณฑ์จากการเกษตรออกสู่ภายนอกได้สะดวกมากขึ้นอีกด้วย
การพัฒนาขุมเหมืองเก่าเป็นแหล่งน้ำ
กรณีปัจจัยด้านแหล่งน้ำ เป็นที่ทราบดีว่าในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนโดยได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดหาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองทั่วประเทศ สำหรับช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งโดยให้ประสานกับผู้ประกอบการเหมืองแร่หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน
ส่วนน้ำจากขุมเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วและปิดกิจการไปแล้ว ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของพื้นที่หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งด้วยเช่นกัน ซึ่งมีพื้นที่ประทานบัตรที่มีศักยภาพสามารถนำน้ำมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง ไม่น้อยกว่า 200 แปลง มีปริมาตรน้ำไม่น้อยกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายอยู่ทั่วประเทศ
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไปสำรวจและประสานกับผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าของพื้นที่หาแนวทางนำน้ำในขุมเหมืองมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งให้เป็นรูปธรรมแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ขุมเหมืองของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาน้ำยืน จำกัด ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ขุมเหมืองของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่หินชุมแพรุ่งเรือง อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และขุมเหมืองของบริษัท พิพัฒน์กร จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า เหมืองแร่ก็มีส่วนในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตในด้านแหล่งน้ำให้แก่ชุมชนได้โดยสามารถสามารถเชื่อมโยงไปสู่การใช้ประโยชน์แหล่งน้ำสำหรับภาคเกษตรกรรมได้เช่นเดียวกัน
การผลักดันการทำเหมืองแร่โพแทชเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมปุ๋ย
ในปัจจัยการผลิตด้าน “ปุ๋ย” ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอีกประการหนึ่ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก็ได้ผลักดันการทำเหมืองแร่โพแทช ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการทำปุ๋ยเคมี โดยปัจจุบันราคานำเข้าโพแทชอยู่ที่ราว 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในขณะที่ต้นทุนการขุดเจาะแร่โพแทชอยู่ที่ประมาณ 100-200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน แม้ราคานำเข้าได้มีการปรับตัวลดลงมาจากระดับ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในช่วงก่อนหน้าวิกฤติการเงินในปี 2008-9 แต่ในระยะยาวแนวโน้มราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งตามดีมานด์ต่อสินค้าเกษตรทั่วโลกที่จะเติบโตรวดเร็วขึ้นตามการเติบโตของประชากรและการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น ดังนั้น หากประเทศสามารถผลิตแร่โพแทชได้เองจะช่วยลดต้นทุนให้แก่ภาคเกษตรและส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยจะได้วัตถุดิบสำหรับปุ๋ยโพแทสเซียมในราคาต่ำลงและสามารถเพิ่มศักยภาพเป็นฐานการผลิตปุ๋ยที่มีความมั่นคงมากขึ้นซึ่งส่วนนี้เป็นประโยชน์กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ
ส่วนประโยชน์อื่น เช่น อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะได้ประโยชน์จากการนำเกลือที่ได้จากการขุดโพแทชไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสบู่สารซักฟอกและเซรามิก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพืชพลังงานทดแทนจะได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น และห่วงโซ่มูลค่าของภาคการเกษตรสามารถเกิดขึ้นในประเทศอย่างครบวงจรเมื่อไทยสามารถขุดแร่โพแทชได้เอง
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่าการดำเนินงานอื่น ๆ ที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ยกตัวอย่าง เช่น
1.การกำหนดให้มีกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ผู้ประกอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านมวลชนสัมพันธ์ และกำหนดให้มีการจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ เป็นเงื่อนไขในการอนุญาต ประทานบัตรและต่ออายุประทานบัตรสำหรับแร่ชนิดอื่น ๆ
นอกเหนือจากหินอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้นำมากำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายการอนุญาตประทานบัตรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสาธารณประโยชน์ การศึกษา ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชนโดยรอบพื้นที่ประทานบัตรและพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับประทานบัตร และได้ออกเป็นประกาศกรมเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ พ.ศ. 2559 ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดของการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน การบริหารจัดการและการจัดการเงินกองทุน ตลอดจนการรายงานผลการดำเนินงาน โดยชุมชนสามารถที่จะเสนอแผน/โครงการ/กิจกรรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในชุมชนให้คณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ที่ดูแลกองทุนพิจารณาเพื่อใช้ประโยชน์เงินกองทุนก็ได้
2.การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR-DPIMกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ผลักดันและส่งเสริมให้สถานประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมแร่ในความรับผิดชอบมีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้นซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่สามารถประกอบการอย่างต่อเนื่องและอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภาคสังคมทั้งประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ ยอมรับการประกอบการของอุตสาหกรรมแร่ และเข้าใจความจำเป็นของการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถผลิตและใช้แร่ได้อย่างยั่งยืนก่อให้เกิดความมั่นคงด้านแร่ในระยะยาว โดยผู้ประกอบการสามารถจะใช้หลักการของ CSR ในการสนับสนุน ช่วยเหลือ และดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้ เช่น การร่วมกับชาวบ้านในการจัดหาพันธุ์พืชสำหรับเพาะปลูกในชุมชน การร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือรับซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มาจากชุมชนในพื้นที่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่นอกจากจะมีความสำคัญในการเป็นอุตสาหกรรมต้นทางที่จัดหาวัตถุดิบแร่เพื่อป้อนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมแล้วยังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่ภาคเกษตรกรรมได้ทั้งในปัจจัยด้านสภาพพื้นที่แหล่งน้ำและปุ๋ยรวมทั้งยังสามารถที่จะสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาเกษตรกรรมผ่านการทำ CSR ได้เช่นกัน
วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หลังจากเสร็จภารกิจราชการได้เดินทางมาร่วมงานสัมมนาในภายหลังและได้ขึ้นกล่าวปิดงานเสวนาในครั้งนี้
ที่สำคัญ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่พร้อมที่จะผลักดัน ให้การสนับสนุน และสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการเหมืองแร่ว่านอกจากจะปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและดำเนินการตามมาตรการหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตทำเหมืองแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของชุมชนว่าภายหลังจากที่สิ้นสุดการทำเหมืองแล้ว หรือแม้แต่ในระหว่างการทำเหมือง จะมีการแบ่งปันทรัพยากรให้แก่ชุมชนอย่างไรได้บ้าง และเชื่อมโยงไปสู่ภาคเกษตรกรรมในชุมชนอย่างไรได้บ้างควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป
ประเด็นสำคัญของการเสวนาในช่วงท้าย ตัวแทนแต่ละองค์กรได้แสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการทำเหมืองแร่ และหัวใจสำคัญของการทำเหมืองแร่ทุกฝ่ายควรต้องดูแลด้านดุลยภาพของสังคมเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้การลงทุนทำเหมืองแร่เดินหน้าต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย เวลานี้ต้องช่วยกันทำให้ดี ลบภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ร้ายให้เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม และเหนืออื่นใดต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันนั่นคือ การขออนุมัติใบอนุญาตทำเหมืองแร่ใช้ระยะเวลายาวนานมากเพราะต้องผ่านการขออนุญาตถึง 7 กระทรวง 16 กรม หากเป็นไปได้น่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาและแก้กฎหมายให้การอนุมัติใบอนุญาตมีความรวดเร็วขึ้น และการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนไม่สร้างอุปสรรคให้เป็นปัญหาพร้อมการจัดตั้งกองทุนจาก พรบ.เหมืองแร่ให้เกิดขึ้นก็จะดีมากต่อการลงทุน เพราะปัจจุบันนี้กิจการเหมืองแร่ที่มีในไทยประมาณ 1 พันกว่าแปลง มีใบอนุญาตทำงานขณะนี้อยู่ 500 กว่าโรง ซึ่งน้อยมากหากเปรียบเทียบกับมูลค่าการสร้างรายได้รวมต่อปีกว่าหนึ่งแสนล้านบาท