Health & Beauty

สถาบันวัคซีนแห่งชาติแนะชัดทุกประเด็น mRNAฉีดเด็ก5-11ปีเรื่องที่พ่อ-แม่ต้องรู้



กรุงเทพฯ-สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “วัคซีน mRNA ฉีดในเด็ก 5-11 ปี: เรื่องที่พ่อ-แม่ ต้องรู้” โดยถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เร่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนชนิด mRNA พร้อมทั้งให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจให้บุตรหลานกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปีเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อสร้างความมั่นใจในการกลับเข้าเรียนในสถานที่

ภายในงานเสวนา นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเสวนาฯ ว่า “กิจกรรมในวันนี้เป็นความตั้งใจของสถาบันวัคซีนแห่งชาติที่ต้องการสื่อสารให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ปกครอง ได้มีความเข้าใจ และเชื่อมั่นในวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งผู้ปกครองค่อนข้างมีความกังวลเป็นอย่างมาก หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้เด็กได้รับวัคซีนกันอย่างครอบคลุม เพื่อเป็นการสร้างภูมิต้านทานโรคโควิด 19 และให้เกิดความปลอดภัยทั่วประเทศ” นอกจากนี้ภายในงานได้รับเกียรติจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ พร้อมตอบข้อสงสัยแก่ประชาชนที่ร่วมรับฟัง นำโดย ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และ พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมดำเนินรายการ

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย มีแนวโน้มการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น และพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยอุบัติการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีจำนวนกว่า 300,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 63 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 2 ใน 10,000 ราย ซึ่งข้อมูลการติดเชื้อโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี นั้น พบว่ามีอาการทางเดินระบบหายใจที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่หากติดเชื้อสิ่งที่น่ากังวล คือ การเกิดภาวะอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย หรือ ภาวะ MIS-C ซึ่งมีอัตราการเกิดคิดเป็น 1.67 ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคโควิด 19 จำนวน 10,000 ราย ซึ่งภาวะ MIS-C นี้ พบได้ในช่วง 2-6 สัปดาห์ หลังการติดเชื้อ ซึ่งกลุ่มอาการที่มักพบ ได้แก่ มีไข้ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ่ายเหลว มีผื่นขึ้น และอาการทางระบบประสาท เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เข้ารับวัคซีน Pfizer สูตรสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยเฉพาะ (10 ไมโครกรัม/โดส) จำนวน 2 เข็ม มีระยะห่างระหว่างเข็ม 8 สัปดาห์ ทั้งนี้ อาการไม่พึงประสงค์ที่มักพบบ่อยภายหลังการรับวัคซีนในช่วง 2-3 วันหลังแรก ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีไข้ ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่อาการเหล่านี้จะพบได้น้อยกว่า 2-3 เท่า นอกจากนี้ ข้อมูลในสหรัฐอเมริกาที่มีการให้วัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มาแล้วกว่า 10 ล้านโดส พบว่า ผู้รับวัคซีน mRNA เพศชายมีโอกาสเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าเพศหญิง โดยพบหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มแรก และยังพบว่าในเด็กอายุ 5-11 ปี มีโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยกว่าในเด็กโตถึง 10 เท่า (4 ใน 1,000,000 โดส) ซึ่งถือว่ามีโอกาสเกิดน้อยมาก โดยจากการเก็บข้อมูลการใช้วัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปี ยังพบอีกว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสการเกิด MIS-C หากเกิดการติดเชื้อได้ถึง 90% ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวย้ำว่า “เด็ก ๆ ควรได้รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด19 โดยวัคซีน mRNA ในเด็กมีความปลอดภัย พบผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กวัยรุ่น การฉีดวัคซีนร่วมกับมาตรการสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อย ๆ คือ การปกป้องสองชั้น ซึ่งจะช่วยให้บุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กมีความปลอดภัยจากโควิด 19 เพิ่มขึ้น”

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้รายละเอียดในเรื่องของแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 และการจัดลำดับการให้วัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ของประเทศไทยว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรค ได้มีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์การป่วยจากโควิด 19 ในประชาชนทุกกลุ่มอายุมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบอัตราการติดเชื้อโควิด 19 ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนของประชากรเด็กอายุ 5-11 ปี ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 19,765 ราย หรือคิดเป็น 7.1% สำหรับแผนการให้วัคซีนจะเริ่มฉีดในเด็ก 7 กลุ่มโรคเสี่ยงและเด็กนักเรียนปกติ ตั้งแต่ชั้นประถม 6 ไปจนถึงชั้นประถม 1 ตามลำดับ เนื่องจากเด็กโตสามารถบอกเล่าอาการหลังการฉีดได้ดีกว่า ทั้งนี้ วัคซีนที่ได้รับอนุมัติให้สามารถใช้ในเด็กกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทยได้แก่ วัคซีน Pfizer สูตรสำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม) และวัคซีนชนิดเชื้อตาย (วัคซีน Sinovac และ Sinopharm) โดยสูตรที่แนะนำสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี จะเป็นวัคซีน Pfizer 2 เข็มส่วนเด็กอายุ 6-17 ปี สามารถเลือกฉีด วัคซีน Sinovac 2 เข็มเป็นทางเลือกได้ สำหรับการใช้วัคซีนสูตรไขว้ Sinovac+Pfizer ในกลุ่มเด็กอายุ 6-11 ปี ยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ นพ. โสภณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากที่เด็ก ๆ ได้รับวัคซีนแล้ว กรมควบคุมโรคได้มีการกำชับคุณครู และผู้ปกครองให้เฝ้าสังเกตอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน หากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และเด็กที่ได้รับวัคซีนควรงดออกกำลังกายในช่วง 7 วันแรกหลังจากฉีดวัคซีนหรือลดกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ โดยการฉีดวัคซีนจะช่วยลดอาการป่วยหนัก และช่วยลดการแพร่เชื้อไปยังครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนได้ด้วย จึงอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองรีบตัดสินใจให้บุตรหลานของท่านได้เข้ารับวัคซีนเพื่อประโยชน์แก่ครอบครัวของเด็กเองและเพื่อสังคม”

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้ข้อมูลอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ การจัดการวัคซีนโควิด 19 ในโรงเรียนและการควบคุมป้องกันโรคในโรงเรียน  โดย นพ.สราวุฒิ ได้ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ของการติดเชื้อในเด็กกลุ่มอายุ 0-19 ปี มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตนั้น พบว่า แม้จะมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นแต่อัตราการเสียชีวิตของกลุ่มเหล่านี้ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสเสียชีวิตได้ โดยมาตรการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปิดการเรียนการสอนในสถานที่เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อในกลุ่มนักเรียนมาโดยตลอด ซึ่งข้อมูลจากยูนิเซฟได้มีการรายงานว่า การเรียนการสอนในลักษณะนี้ ส่งผลเสียทำให้การเรียนรู้และพัฒนาการเด็กมีแนวโน้มต่ำลงจาก 90% ลดลงมาเหลือเพียง 40% โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มเปราะบาง ที่สำคัญมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 230,000 คน ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนด้วยมาตรการที่ปลอดภัย เช่น มาตรการ Sandbox Safety Zone in School ทางโรงเรียนต้องประเมินผ่านระบบ Thai Stop COVID Plus ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตน โดยในส่วนของโรงเรียนจะจำกัดพื้นที่แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ 1. Screening (การตรวจคัดกรอง Thai Save Thai) 2. Quarantine (เฝ้าระวังสังเกตอาการ 5-7 วัน) 3. Safety Zone (ปลอดเชื้อ ปลอดภัย) และเมื่อเกิดการติดเชื้อในสถานศึกษาต้องมีการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุเมื่อพบกรณีติดเชื้อในสถานศึกษา ปัจจุบันข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการพบว่า มีโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนในสถานที่ประมาณ 50-60% และยังไม่เปิดเรียนในสถานที่อีก 40% นพ.สราวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย ว่า มติ ศบค. เห็นควรให้เปิดการเรียนการสอนในสถานที่ โดยสถานศึกษาแต่ละแห่งจะต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และอาจเลือกรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้ โดยผลการประชุมร่วม 3 กระทรวง (กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข) มีมติจากให้สถานศึกษาดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เน้นย้ำให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ได้รับวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และวางแผนการให้วัคซีนในเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี โดยให้โรงเรียนเป็นฐานการจัดการ

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมและรับฟังข้อมูลรายละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาตอบข้อสงสัยของประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการได้รับวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี โดยสามารถติดตามรับชมย้อนหลังได้ทาง https://www.facebook.com/nvikm/videos/476931040712442