In News
ศรชล.ภาค3ตรวจเชื้อโควิดลูกเรือยอร์ช เข้มทอดสมอกักตัว14วันในทะเลภูเก็ต
ภูเก็ต-ศรชล.ภาค 3ตรวจหาเชื้อโควิด ลูกเรือยอร์ช ทอดสมอกักตัว 14 วันกลางทะเลภูเก็ต
สืบเนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ในคราวประชุม ครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 อนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ เช่น ซุปเปอร์ยอร์ช เป็นเรือสำราญความยาว 30 เมตรขึ้นไป มีผู้โดยสารไม่เกิน 12 คน และเรือครุยเซอร์ที่เป็นเรือสำราญขนาดเล็ก เป็นต้น โดยลูกเรือจะต้องทำการกักตัวบนเรือเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานในการอำนวยการและบูรณาการการปฏิบัติในการรับเรือยอร์ชเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีประกาศในส่วนที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติจากกระทรวงมหาดไทยและกรมเจ้าท่า รวมทั้งการกำหนดมาตรการป้องกันและรายละเอียดการปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 6460/2563
ล่าสุดวันนี้ (27 พ.ย.63) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 หรือ ศรชล.ภาค 3 ภายใต้การสั่งการของพลเรือโทเชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 (ศรชล.ภาค 3 ) ได้ประสานการปฏิบัติกับกำลังจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต อาทิ เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต, ด่านควบคุมโรคทางน้ำ จ.ภูเก็ต, ตำรวจน้ำ, แพทย์จากโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อสนับสนุนภารกิจการควบคุมและดูแลเรือยอร์ชที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 ลำ ซึ่งมีการทอดสมอตามประกาศของกรมเจ้าท่า คือ บริเวณกลางทะเลอ่าวปอ ห่างจากชายฝั่งประมาณ 6.20 กิโลเมตร
สำหรับเรือยอร์ชต่างประเทศที่เดินทางเข้ามายังน่านน้ำจังหวัดภูเก็ตในวันที่ (27 พ.ย.63) จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือ Crabby เรือสัญชาติออสเตรเลีย ออกมาจากท่าเรือในประเทศไทย, เรือ Investigator 2 สัญชาติมาเลเชีย ออกจากท่าเรือในประเทศไทย และ เรือ Cayenne สัญชาติมาเลเซีย ออกจากท่าเรือในประเทศมาเลเซีย พร้อมกัปตันเรือลำละ 1 คน และผู้ช่วยกัปตันอีก 1 คน รวมเป็น 4 คน อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวด้วยว่า เรือทั้ง 3 ลำนี้ เป็นเรือที่ได้แจ้งความประสงค์จะเข้าน่านน้ำภูเก็ตเป็นเวลานานแล้ว และในส่วนของเรือที่ออกจากท่าในประเทศไทยนั้น เป็นเรือที่ออกไปก่อนจะมีการปิดเส้นทางเข้าประเทศไทยอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเรื่องดังกล่าวต้องจอดลอยลำอยู่ทะเลหลวง และเมื่อมีมติของ ศบค.อนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาได้ จึงมีการขออนุญาตเข้ามาดังกล่าว และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด คือ มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ครั้ง โดยแพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลลงลงไปตรวจคัดกรองและเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพงจมูกกัปตันบนเรือยอร์ช และจะต้องกักตัวอยู่ในเรือเป็นเวลา 14 วัน โดยห้ามขึ้นฝั่งเด็ดขาด เมื่อครบกำหนดกักตัวและไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 จึงจะสามารถนำเรือมาจอดเทียบท่าและคนบนเรือสามารถขึ้นฝั่งได้
อนึ่งในส่วนของศรชล.ภาค 3 ได้มีการออกคำสั่งจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจควบคุมเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรด้านฝั่งทะเลอันดามันเพื่อการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคง เมื่อเรือยอร์ชเดินทางมาถึง โดยวางกำลังในการควบคุมกำกับดูแลลูกเรือและเรือยอร์ช, ควบคุมลูกเรือและเรือยอร์ชเข้าจอดเรือและออกเรือให้อยู่ในพื้นที่จอดเรือตามที่กำหนด, ควบคุมการผ่าน เข้า - ออก ของบุคคลและเรือในพื้นที่จอดเรือ ห้ามบุคคลและเรือที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้า - ออก พื้นที่จอดเรือ, ให้ความช่วยเหลือลูกเรือและเรือยอร์ช ในกรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน, ประสานการปฏิบัติกับกำลังจากหน่วยราชการอื่นในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อสนับสนุนภารกิจการควบคุมและช่วยเหลือเรือยอร์ชปฏิบัติกิจอื่น ๆ ตามที่ได้รับสั่งการ
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่28 พ.ย.63 จะมีเรือยอร์ชจากต่างประเทศเดินทางเข้ามากักตัวที่จังหวัดภูเก็ตอีกประมาณ 4 ลำ ซึ่งทุกลำจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ จอดทอดสมอในจุดที่กำหนด เพื่อกักตัวคนที่อยู่บนเรือเป็นเวลา 14 วัน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19