EDU Research & ESG
เติมโอกาสเด็กเก่งไร้เงินทุนหนุนอนาคต ผุดหลักสูตรสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่น
ฉะเชิงเทรา-เติมโอกาสเด็กเก่ง แต่ขาดแคลนเงินทุนหนุนอนาคตใน ม.ท้องถิ่น หลังผุด 2 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ สร้างอาชีพให้แก่คนในพื้นที่ได้เรียนฟรีมีรายได้ตลอดช่วงเวลาการศึกษา สร้างคนสร้างอาชีพให้ตรงกับสายงานและความต้องการของภาคเอกชน สู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ 4.0 หลังมีผู้ประกอบการเอกชนยื่นมือเข้ามาสนับสนุน เสริมทางเลือกให้แก่เด็กในพื้นที่ได้มีอนาคตบนเส้นทางชีวิตที่ดีกว่าจนจบออกมาแล้วมีงานทำทันที
วันที่ 5 มี.ค.65 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ในปีการศึกษา 2565 นี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีการปรับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์จากเดิม เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ในการเปิดรับนักเรียนเข้ามาศึกษาในสาขาทางด้านสายวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิตอัตโนมัติ
และสาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการอุตสาหกรรม เพื่อรองรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้เน้นการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูงในกระบวนการผลิต ตามนโยบายเขตพื้นที่การพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบกับที่ จ.ฉะเชิงเทรา ยังมีนักลงทุนเข้ามาก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตด้วย
อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ในพื้นที่ ทาง มรภ.ราชนครินทร์ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนด้านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาจากภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ในการปรับปรุงการศึกษาใน 2 หลักสูตร เพื่อพัฒนากำลังคนแห่งอนาคต ที่ตรงกันกับความต้องการทางสายงานการผลิตของภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อตอบสนองตามความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการหลายราย ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเป็นทุนการศึกษา โดยได้ให้เงินทุนในการเรียนฟรีตลอดหลักสูตร 4 ปี พร้อมยังให้ค่าใช้จ่ายเป็นแบบรายเดือน จำนวน 3 พันบาทต่อเดือน เช่น นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฝึกทักษะในกระบวนการผลิตจากสายงานการผลิตจริงภายในสถานประกอบการ
ที่มีการใช้ทั้งนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการผลิต ให้แก่ทางผู้ศึกษาในมหาวิทยาลัยได้เข้าถึง และศึกษาเรียนรู้ยังภายในสถานประกอบการจริงๆ ซึ่งผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาใน 2 สาขาวิชานี้ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และกำลังใกล้สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2564 นี้ จากโรงเรียนมัธยมศึกษาใน จ.ฉะเชิงเทรา
เป็นผู้มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียนระหว่าง ม.4-6 ไม่น้อยกว่า 3.00 เป็นผู้มีความตั้งใจที่จะศึกษาจนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร มีความประพฤติดี มีทัศนคติที่ดี มีจิตอาสาสำนึกรักในท้องถิ่น และมีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา การฝึกสหกิจศึกษาในรูปแบบของการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการกำหนด
ทั้งยังเป็นผู้สนใจที่จะทำงานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหลังจากจบการศึกษาแล้ว โดยทุนการศึกษาตามหลักสูตรนี้เบื้องต้นมีจำนวน 10 ทุน และกำลังจะมีภาคเอกชนอีกหลายแห่งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มให้ความสนใจที่จะเข้ามาให้การสนับสนุนทุนการศึกษาในลักษณะนี้เพิ่มเติมอีกในอนาคต รศ.ดร. ดวงพร กล่าว
สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา