EDU Research & ESG

เป็นจริงแล้ว!!! สร้างอนาคตเด็กแปดริ้ว เรียนดีมีทุนให้ฟรีแบบยาวจนจบหลักสูตร



ฉะเชิงเทรา-เป็นจริงแล้ว ช่วยสร้างอนาคตเด็กแปดริ้วเรียนดีมีทุนให้เรียนฟรีแบบยาวๆ ไปจนจบการศึกษาพร้อมมีงานรองรับ หลังผู้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมยุค 4.0 ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ในพื้นที่ เข้ามาทำข้อตกลงบันทึกลงนามความร่วมมือ เอ็มโอยู ร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ด้วยการยอมควักเงินอุดหนุนเติมอนาคตให้แก่บุตรหลานคนในพื้นที่ เผยเป็นการตอบแทนคืนสู่สังคมที่ได้เคยให้คำมั่นไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

วันที่ 11 มี.ค.65 เวลา 14.40 น. ที่ห้องประชุมโชคอนันต์ชั้น 2 อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือให้ทุนการศึกษาในโครงการ “Star of The Future” ระหว่างนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ซึ่งบริหารงานโดยบริษัทดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น

โดยมี รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้บริหารสถาบันการศึกษา และมี น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเงินทุนการศึกษา จากฝ่ายของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้เข้ามาก่อตั้งในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 

โดย น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าวถึงแนวคิดความเป็นมาในการที่จะช่วยเหลือเงินทุนทางด้านการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ว่า เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มที่เราได้เข้ามาก่อตั้งโครงการ ที่จะทำให้ชุมชนมั่นคง อำเภอมั่งคั่ง จังหวัดยั่งยืน ที่อยากให้คนในชุมชนโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกันกับเรา หากยังจดจำกันได้นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ นั้น

ได้เคยมีคำมั่นสัญญาไว้กับชุมชนชาวบ้านในที่แห่งนี้เอาไว้ว่า เราจะมาจับมือร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตไปด้วยกัน วันนี้จึงเป็นการมาทำตามคำสัญญา และมองเห็นว่าเด็กในพื้นที่กำลังจะจบการศึกษาออกมาแล้ว และกำลังจะมีอนาคต กำลังจะสร้างตนเอง จึงอยากขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้พวกเขาได้มองเห็นอนาคตว่า เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้วอยากจะทำอะไร อยากจะมีอาชีพสร้างรายได้เป็นอย่างไร จึงได้เกิดเป็นแนวความคิด ในการทำโครงการ “Star of The Future” นี้ขึ้นมา

โดยเป็นการเฟ้นหาสตาร์ที่ขาดทุนทรัพย์ ขาดทุนการศึกษา แต่เรียนเก่งและขยันและมีความรับผิดชอบในตนเอง โดยความคาดหวังนั้น คือ เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศของเรา ด้วยการเริ่มจากสองมือหนึ่งสมองเป็น 10 สมอง 100 สมองไปจนถึง 1 พันสมองที่จะสร้างโอกาสให้แก่เด็กๆ 

สำหรับโครงการนี้มีแนวทางในการศึกษา คือ เริ่มจากการเรียนด้านทฤษฎีช่วง 2-3 ปีแรก จากนั้นในปีที่ 3-4 จะเข้าไปปฏิบัติงานจริงภายในโรงงานอุตสาหกรรมของเรา และหลังจากเรียนจบออกมาแล้วสามารถที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับทางเราได้ในทันที โดยมีสถานประกอบการรอรับไว้แล้ว เนื่องจากเคยผ่านทางภาคปฏิบัติมา ผู้สำเร็จการศึกษาจะรู้ในหน้าที่รู้งานในตำแหน่งเฉพาะ ทั้งในรายละเอียดขั้นตอนที่ได้เคยปฏิบัติมาในขณะที่ยังอยู่ระหว่างการฝึกศึกษา 

จะทำให้สามารถสื่อความหมายและเข้าใจในอาชีพของพวกเขาได้ในทันที ในขณะที่ทางเรานั้นได้มีตำแหน่งานในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนไว้คอยรองรับผู้สำเร็จการศึกษาเหล่านี้ จึงไม่อยากให้โอกาสของคนในพื้นที่สูญเสียไป นับตั้งแต่บัดนี้ จึงได้เข้ามาสนับสนุนเยาวชนที่ยังหาเส้นทางในการดำเนินชีวิต และการศึกษาของตนเองไม่ได้ ให้เขาได้เข้ามาเรียนรู้ในเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป โดยคนในสังคมจะหันกลับมาใช้พลังงานทดแทนกันเพิ่มมากขึ้น น.ส.กุลพรภัสร์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ดวงพร กล่าวว่า จากการลงนามความร่วมในวันนี้ ได้มีการเตรียมแผนกันไว้ว่า จะร่วมกันพัฒนากำลังแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานพื้นถิ่นหรือแรงงานที่กำลังประสบจากสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ โดยอาจจะนำมารีสกิล (Reskill) หรือปรับเปลี่ยนทักษะในการเรียนรู้งานใหม่ๆ และอัพสกิล (Upskill) หรือการเสริมทักษะเพื่อพัฒนาความสามารถเพิ่มขึ้นด้วยการเรียนรู้จากหลักสูตรระยะสั้น

เพื่อให้ตรงกับความต้องการหรือตอบโจทย์สอดคล้องกันกับสถานประกอบการ ที่ต้องการแรงงานที่มีการปรับปรุงพัฒนาใหม่แล้วเหล่านี้ เช่น การบริหารจัดการโลจิสติกส์ การจัดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อสร้างคน หรือสร้างพนักงานขับรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทดับเบิ้ลพีแลนด์ ได้มีการนำรถไฟฟ้าเข้าไปกระจายให้บริการอยู่ใน กทม. เป็นจำนวนมากแล้ว จึงเป็นการตอบโจทย์ให้แก่ผู้ประกอบการ

โดยมีเป้าหมายให้แรงงานคืนถิ่น ได้มีอาชีพเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าโครงการนี้ จะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือน เม.ย.65 นี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ร่วมกันอีก โดยผู้เรียนตามหลักสูตรนี้ ในช่วง 2 ปีแรกนั้นให้นักศึกษาได้เรียนอยู่ภายในมหาวิทยาลัยก่อน ส่วนอีก 2 ปีหลัง จะให้นักศึกษาได้ไปปฏิบัติงานจริงอยู่ในหน้างาน ซึ่งนักศึกษาที่ได้เข้ามาเรียนตามหลักสูตรนี้ จะได้รับทั้งเงินเดือนและค่าใช้จ่ายตั้งแต่ในชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 

โดยที่นักศึกษาเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดกิจกรรมหรือวิธีการดำเนินงาน การปฏิบัติงานในหน้างานจริงในสถานประกอบการ จึงเป็นการแก้โจทย์ปัญหา และถือเป็นสิ่งที่สถานประกอบการต้องการ โดยมีแหล่งที่จะเปิดรับนักศึกษาตามหลักสูตรนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มีการขึ้นรูปโครงการร่วมกันกับประธานหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ได้เข้ามาร่วมมือผนึกกำลังกันในการพัฒนาหลักสูตร 

ซึ่งเราจะดูว่าความต้องการของสถานประกอบการนั้น มีอยู่กี่ตำแหน่ง ทางเราก็จะพัฒนาทั้งเด็กในโครงการศึกษาแบบ 2 บวก 2 และโครงการพัฒนาเสริมทักษะแรงงานคืนถิ่น ให้ได้เรียน 2 ปี และเข้าไปปฏิบัติงานจริง 2 ปีพร้อมมีรายได้ระหว่างการศึกษาในหลักสูตรนี้ รศ.ดร.ดวงพร กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา