EDU Research & ESG
สีสัน!นร.ลูกแรงงานต่างด้าวประมงสงขลา ปลูกผักสวนครัวลดค่าใช้จ่ายช่วยพ่อแม่
สงขลา-สีสัน..บุตรหลานแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นนักเรียนของศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้หลากหลายชนิดเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง
สีสัน..นางสาวพาตีเมาะ หะแวหรือครูมาราตี ครูสอนนักเรียนอยู่ที่ห้องเรียนรู้เพื่อเด็กและครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน ของศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลาโดยครูมาราตีจะมีการสอนภาษาไทยให้กับเด็กนักเรียนที่เป็นบุตรหลานของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลาทุกคนให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กเข้าสู่โรงเรียนรัฐบาลขยายโอกาสทางการศึกษาให้เขาได้เข้าโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือตามเกณฑ์อายุในพื้นที่จังหวัดสงขลา แม้ว่าจะเป็นบุตรหลานของแรงงานต่างด้าวก็ตาม
สำหรับในด้านการเกษตรก็ให้นักเรียนได้ทำการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้หลากหลายชนิดเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองเนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นักเรียนจะไม่ออกไปไหน จึงทำให้มีเวลามาปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้กันทุกคน โดยใช้บริเวณริมรั้วหน้าห้องเรียนโดยทำเป็นกระถางตามแนวยาวของรั้วเป็นช่วงๆและปลูกพืชผักหลากหลายชนิดสลับกันไปมีทั้งผักบุ้ง ผักกาด ผักคะน้า ผักชี ตะไคร้ โหระพา ใบกระเพราและอีกหลายชนิดโดยพิเศษกว่านั้น กระถางผักทุกกระถางจะมีตาข่ายครอบปิดอย่างแข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชเข้ามารบกวนในการขุดและกัดกินพืชผักให้ได้รับความเสียหาย ศัตรูพืชที่พูดถึงก็คือหนู ซึ่งมีเป็นจำนวนมากอยู่บริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลา ทางคุณครูจึงต้องทำตะแกรงตาข่ายครอบบนกระถางอย่างแน่นหนา เพื่อไม่ให้หนูเล็ดลอดเข้ามากัดกินในกระถางได้
นางสาวพาตีเมาะ หะแวหรือครูมาราตี กล่าวว่า ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ผักที่ปลูกที่นี่จะเป็นเด็กนักเรียนที่ช่วยปลูกในทุกๆวันจะดูแล แล้วก็พอผักเริ่มโตก็จะนำไปรับประทานที่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสำหรับผักที่ปลูกที่นี่จะมี ผักบุ้ง ผักกาด ผักคะน้า ผักชีและอีกหลายชนิดรวมทั้งตะไคร้ส่วนใหญ่จะเป็นผักสวนครัวที่ใช้ในครัวเรือนเป็นประจำ
พืชผักสวนครัวทั้งหมดเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็จะช่วยกันเก็บผลผลิตทั้งหมดแบ่งให้กับนักเรียนทุกคนนำกลับไปให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้านเพื่อปรุงอาหารเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของแรงงานต่างด้าวบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลาที่ส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือที่นี่
ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา