EDU Research & ESG
มข.ย้ำสเปรย์พ่นปากโปรเจ็กต์Start up เป็นความร่วมมือ'ม.ขอนแก่นและมิสลิลลี่'
กรุงเทพฯ-ม.ขอนแก่นเคลียร์ประเด็นข้อมูลอันเป็นเท็จ การกล่าวหาผู้บริหารพร้อมย้ำสเปรย์ Andrographolide Nano-emulsion เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของโครงการ Start up ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ และมิส ลิลลี่ เท่านั้น
เมื่อ 18 เมษายน 2565 – มหาวิทยาลัยขอนแก่นชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีที่เป็นข่าวถึงการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ พร้อมยืนยันสูตรและผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปาก Andrographolide Nano-emulsion เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิเด็ดขาดของโครงการ Start up ในความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ และบริษัท มิส ลิลลี่ จำกัดเท่านั้น
สืบเนื่องจากกรณีที่ ผศ.ดร.กิติยาพร พงษ์ประเทศ ของคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างธรรมาภิบาล (กมธ.) รวมถึงให้สัมภาษณ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชน โดยกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้คิดค้นและผู้ประดิษฐ์ในสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ Andrographolide Nano-emulsion ทั้งยังได้กล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ว่าประพฤติ มิชอบนั้น ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ชี้แจงว่า การร้องเรียน การกล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และการให้สัมภาษณ์ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของบุคคลดังกล่าว ไม่มีมูลความจริง ทั้งยังยืนยันว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินงานโครงการ Start up ด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการดำเนินการด้านสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๖๒
“การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Andrographolide Nano-emulsion ชนิดสเปรย์พ่นปาก เกิดจากนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ต้องการสร้างโครงการ Start up ให้ประสบความสำเร็จ โดยอาศัย Business Model และความเข้มแข็งด้านบริหารจัดการของภาคเอกชนร่วมกับองค์ความรู้ เครื่องมือและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยฯ โดยโครงการ Start up นี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด ในด้านการจัดจ้างจัดหานักวิจัยและเงินทุนเพื่อใช้ในงานคิดค้น ทดลองสูตร และพัฒนาสูตร รวมทั้งในด้านการตลาดเพื่อให้เกิดเป็น Business Model” ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าว
“ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยหน้าที่ คำสั่ง การจ้าง การควบคุมดูแล และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ขอนแก่นและมิส ลิลลี่ จึงเป็นสิทธิร่วมกันของมหาวิทยาลัยฯ และบริษัทฯ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการดำเนินการด้านสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๖๒ ข้อ ๖. และข้อ ๗. เท่านั้น ดังนั้นอาจารย์ผู้ร้อง ซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างในโครงการ Start up และบุคลากรภายใต้บังคับบัญชาและกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยฯ ไม่มีสิทธินำสูตรดังกล่าวไปยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร การที่อาจารย์ผู้ร้องนำสูตรดังกล่าวไปยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร (เลขที่ 2103003314) ทำให้มหาวิทยาลัยฯ และบริษัทฯ ภายใต้โครงการ Start up ได้รับความเสียหาย ซึ่งโครงการ Start up กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับอาจารย์ผู้ร้องและผู้เกี่ยวข้องต่อไป”
“นอกจากนี้ สูตร Andrographolide Nano-emulsion ยังได้พัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานของโครงการ Start up ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับคณะทำงานของมิส ลิลลี่ ที่ประกอบด้วยทีมนักวิจัยและทีม งานที่ปรึกษา รวมแล้วมากกว่า 10 คน โดยอาจารย์ผู้ร้องเป็นเพียงหนึ่งในทีมงานที่ปรึกษา ซึ่งไม่ใช่นักวิจัยของโครงการ Start up และไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์ตามกฎหมาย มหาวิทยาลัยฯ และมิส ลิลลี่ ขอยืนยันว่า โครงการ Start up ไม่เคยมีข้อตกลงใดๆ ทั้งเรื่องหุ้นส่วน และการให้สิทธิในสูตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำงานภายใต้โครงการ Start up กับอาจารย์ผู้ร้อง ทั้งยังไม่เคยแต่งตั้งหรือมอบหมายให้อาจารย์ผู้ร้องเป็นหัวหน้าโครงการตามที่อาจารย์ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด”
ศ.ดร.มนต์ชัย ยังกล่าวต่อว่า “สูตร Andrographolide Nano-emulsion ที่ใช้ผลิตเป็นสเปรย์พ่นปาก เป็นสูตรที่มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรม มีการพัฒนาสูตร สัดส่วนองค์ประกอบ และได้สร้างเครื่องจักรเฉพาะทางในการผลิตสารให้มีขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตร ที่เหมาะกับการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งยังมีการตรวจสอบในด้านความคงตัวและการประเมินอายุการเก็บรักษา โดยกระบวนการดังกล่าวตั้งแต่การคิดค้นและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทำโดยโครงการ Start up ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากผู้ร้องพ้นจากการเป็นที่ปรึกษาไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ดังนั้นอาจารย์ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งสิ้น”
“สำหรับสาเหตุการเลิกจ้างอาจารย์ผู้ร้อง ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในทีมที่ปรึกษาในระยะเริ่มต้นของโครงการ Start up เกิดขึ้นจากปัญหาขัดแย้งเนื่องจากอาจารย์ผู้ร้องต้องการนำสูตรของโครงการ Start up ไปจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร และอ้างใช้ว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะผู้คิดค้น ผู้ประดิษฐ์ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งขัดแย้งกับโครงการ Start up จึงเป็นเหตุให้บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด เลิกจ้างอาจารย์ผู้ร้อง และโครงการ Start up เห็นควรให้อาจารย์ผู้ร้องยุติบทบาทในโครงการ Start up”
“ดังนั้นการที่อาจารย์ผู้ร้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริม สร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ให้สอบทุจริตผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด และมหาวิทยาลัยฯ พร้อมนำหลักฐานเกี่ยวกับการว่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างให้แก่อาจารย์ผู้ร้อง และหลักฐานที่อาจารย์ผู้ร้องทำงานภายใต้โครงการ Start up ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด ในฐานะผู้ประสานงานเท่านั้น เข้าชี้แจงตามกระบวนการสอบสวนต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าการกล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัย ขอนแก่นว่าประพฤติมิชอบ ทำการละเมิดสิทธิทางปัญญาของผู้ร้อง ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น” ศ.ดร.มนต์ชัย ทิ้งท้าย
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก คำชี้แจงข้อเท็จจริง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีการแนบท้ายมา