EDU Research & ESG
ครู-วิชาชีพช่างเชื่อมร่วมเทคนิคสารคาม อบรมหุ่นยนต์เชื่อมอุตฯ6Dด้วยCMT
มหาสารคาม-สมาคมครูและผู้ประกอบการวิชาชีพช่างเชื่อม ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามและภาคเอกชน จัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม 6D ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงแบบ CMT เพื่อพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษายุคใหม่ ตอบสนองความต้องการช่างเทคนิคหุ่นยนต์เชื่อมของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ
(25 เม.ย.65 ) ที่ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม นายสงัด ยศเฮือง นายกสมาคมครูและผู้ประกอบการวิชาชีพช่างเชื่อม เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม 6D ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงแบบ CMT ซึ่ง สมาคมครูและผู้ประกอบการวิชาชีพช่างเชื่อม ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม และ บริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด ได้จัดขึ้น รวม 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย.2565 โดยมี ครู อาจารย์ สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ จากสถานศึกษาต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมอบรม จำนวน 30 คน
นายปริญญา สมมิตร ผอ.วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อพัฒนาความรู้ ประสบการณ์ทางด้านหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมให้แก่ครูผู้สอนสาขาวิชางานเชื่อมโลหะ สามารถนำทักษะไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียนนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการช่างเทคนิคหุ่นยนต์เชื่อมของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ เนื่องจาก CMT (Cold Metal Transfer) เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูง ที่สามารถควบคุมกระแสเชื่อม และการเคลื่อนที่ของลวดเชื่อมได้อย่างแม่นยำ มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในภาค อุตสาหกรรม สนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาอาชีวศึกษา (สอศ.)ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในด้านการพัฒนาคุณภาพครูอาชีวศึกษายุคใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน พัฒนาสื่อการเรียนการสอนทางด้านหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการเชื่อมชั้นสูงของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาครู อาจารย์ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่และความต้องการภาคอุตสาหกรรมยุค 4.0 ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์วิธีการเรียนการสอนสาขาวิชางานเชื่อมโลหะ ให้สถานประกอบการและประชาชนได้รับทราบ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักเรียนนักศึกษาอยากเข้าเรียนในสาขานี้มากขึ้นอีกด้วย
พิเชษฐ ยากรี /มหาสารคาม