EDU Research & ESG

ครูศรีสะเกษหนุนกมธ.ยุบศึกษาฯจังหวัด ทำงานซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบฯ



ศรีสะเกษ-ครูประกาศก้องหนุนกรรมาธิการวิสามัญยุบศึกษาธิการจังหวัด  เผยทำงานซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษา  สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ควรนำงบประมาณส่วนนี้จัดสรรไปให้ ร.ร.พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ห้องประชุมศรีวรรณ   เกียรติสุรนนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ศรีสะเกษ  นายธีรนันท์  คำคาวี  ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษจำกัด ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนา เรื่อง ครูศรีสะเกษคิด  โดยมีนายอุดม  โพธิ์ชัย  ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ นายวิสัย   เขตสกุล  เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย  นายสุนทร   ภุมรีจิตร  เลขาธิการชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และนายศราวุธ   วามะกัน  ประธานเครือข่ายชมรมโรงเรียนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย  ได้ร่วมกันจัดการประชุมเสวนาขึ้น และ มีผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาพระสงฆ์และข้าราชการครูในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก มีกิจกรรมประกอบด้วย การเสวนาร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ  การเสวนา การบริหารโรงเรียนแบบ บวร ในโอกาสนี้นายอุดม  โพธิ์ชัย  ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูศรีสะเกษ จำกัด เพื่อคัดค้านการยุบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก และให้เปิดการศึกษาภาคบังคับในทุก ร.ร. เพื่อขอให้พิจารณาให้การสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายอุดม  โพธิ์ชัย  ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า  ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการ ร.ร.คุณภาพของชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของ น.ร. โดยมองอนาคตในอีก 20 ปี ข้างหน้าว่า ร.ร.ประถมศึกษาที่จะเป็น ร.ร.ดีของชุมชนมีจำนวนเท่าไร และมี ร.ร.ที่สามารถบริหารการใช้ทรัพยากรร่วมได้จำนวนเท่าไร สำหรับ ร.ร.มัธยมศึกษาจะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง สพม.สพป. ช่วยกันพัฒนาและคัดเลือก ร.ร.มัธยมดี สี่มุมเมือง เพื่อรับต่อ น.ร.ที่จบจาก ร.ร.ดีของชุมชนเข้าเรียนต่อ การเก็บ น.ร.ใน ร.ร.ขยายโอกาสที่เป็น ร.ร.ขนาดเล็กมาเรียนได้อีก เป็นการลดภาระ ร.ร.แข่งขันสูงและทำให้ น.ร.มาเรียน ที่ ร.ร.มัธยมดีสี่มุมเมืองมากขึ้น   แต่หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคลกลับให้ประโยชน์แก่ครูและผู้บริหารสถานศึกษา ร.ร.เครือข่ายที่นำ น.ร.มาเรียนรวมกับ ร.ร.หลักทุกชั้น เมื่อ น.ร. ร.ร.เครือข่ายมาเรียนรวมกับ ร.ร.หลักทุกชั้น ครู ผู้บริหารสถานศึกษาได้ประโยชน์ในการย้ายไปดำรงตำแหน่งใน ร.ร.ที่มีปริมาณงานสูงขึ้น  ร.ร.ไม่เหลือ น.ร. ครู ผู้บริหาร แล้วจะมี ร.ร.ไปทำไม มิหนำซ้ำผู้มีอำนาจยังให้โทษผู้บริหารสถานศึกษาที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายด้วยการพิจารณาความดีความชอบที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วยต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จึงขอเรียกร้อง ดังนี้คือ  หากจำเป็นต้องยุบหรือควบรวม ต้องโดยความเห็นชอบของประชาชนโดยมติเอกฉันท์ หากมติไม่เอกฉันท์ให้จัดการเรียนการสอน ณ จุดนั้นต่อไปจน น.ร.คนสุดท้าย  ไม่ยุบและยกเลิกนโยบายการควบรวม ร.ร.เล็กเพื่อความมั่นคงของชุมชน ต้องพัฒนา ร.ร.แบบองค์รวม   พัฒนาครูแต่ละคนให้สอนได้ทุกวิชาและทุกชั้น  พัฒนาหลักสูตรให้สร้างคน ให้คนสร้างชุมชน สอดคล้องกับยุคสมัยและบุคคล เรียนที่ไหนคุณภาพต้องเหมือนกัน  เปิดการศึกษาภาคบังคับในทุก ร.ร.สร้างเครือข่ายร.ร.ขนาดเล็กระดับเขตพื้นที่ และระดับจังหวัด  และให้ ร.ร.เป็นนิติบุคคล

นายวิสัย   เขตสกุล  เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  หลังจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึง "คำสั่งที่ 19/2560" เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เม.ย.2560 ด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) หรือยุบ ‘ศึกษาธิการจังหวัด-ภาค’ ในอนาคตนั้น ในวันนี้เวทีครูศรีสะเกษเพื่อที่จะสนับสนุนให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามต้นไม้พิษก็ต้องยุบ เลิก ลงไป เวทีครูศรีสะเกษขอสนับสนุน คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าวด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้มีการทบทวนมติดังกล่าว โดยขอสนับสนุนให้มีการยืนตามมติเดิมต่อไป เนื่องจากว่า 5 ปีที่ผ่าน ศธจ.และ ศธภ. มาทำงานทับซ้อนซ้ำซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่มีอยู่แล้ว และมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ควรยุบหรือยกเลิกหน่วยงานนี้และนำงบประมาณกลับไปพัฒนา ร.ร.เพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของครู ให้ครูผู้สอนมีความรู้ความสามารถและวุฒิการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านตัวผู้เรียนหรือนักเรียนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม  โดยการจัดการศึกษาควรใช้รูปแบบของคณะกรรมการสถานศึกษา ดึงภาคประชาชน ภาคเอกชน  พ่อแม่ ผู้ปกครอง ท้องถิ่น ชุมชน ศิษย์เก่า เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดการเรียนรู้ของเด็กผ่านหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาเด็กแต่ละพื้นที่ และมีหลักสูตรแกนกลางเอาไว้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเด็กไทยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมต่อไป

ข่าว/ภาพ ...... บุญทัน  ธุศรีวรรณ   ศรีสะเกษ