Biz news

'ซีเมนส์' เปิดตัว4ไฮไลท์ล่าสุดของโลก เทคโนโลยีดิจิทัลระบบรางใหม่



กรุงเทพฯ 11 พฤษภาคม 2565 – ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขนส่งระบบราง เตรียมความพร้อมยกระดับระบบขนส่งทางรางในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โชว์ 4 นวัตกรรมไฮไลท์ในงาน Asia Pacific Rail 2022 ที่ตอบโจทย์กับบริบทเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมช่วยผลักดันให้ระบบรางของไทยเทียบชั้นกับระดับโลก ได้แก่  1.ระบบ Mobility-as-a-Service หรือ MaaS เทคโนโลยีการวิเคราะห์และเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง และช่วยให้ผู้โดยสารสามารถออกแบบการเดินทางได้ด้วยตัวเอง 2.ระบบการจัดการสินทรัพย์ทางรางดิจิทัล Railigent  ซึ่งเป็น AI วิเคราะห์และวางแผนการซ่อมบำรุงดูแลรักษา ช่วยลดต้นทุนในการดูแลรักษาได้มากกว่า 15% 3.นวัตกรรมรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ที่สามารถประหยัดเวลาในการเดินทางด้วยความเร็วสูงสุดที่ 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลดปริมาณการใช้พลังงานมากถึง 30% และ     4.แบบจำลอง GCP 5000 ซึ่งเป็นระบบอุปกรณ์เครื่องกั้นรถไฟแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของรถไฟที่กำลังแล่นเข้ามาและเริ่มระบบเตือนเครื่องกั้นทางรถไฟได้อย่างน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ซีเมนส์ โมบิลิตี้ยังเตรียมนำเสนอเทรนด์การขนส่งแห่งอนาคตผ่านการนำเสนอองค์ความรู้สำคัญ อาทิ แนวทางป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลในการขนส่งแบบไร้คนขับที่เชื่อมต่อด้วย 5G แนวทางการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับระบบราง โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับชมและรับฟังได้ในวันนี้ และ 12 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

นายโธมัสค์ มาซัวร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจขนส่งระบบราง เนื่องด้วยเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการเติบโตของบริบทเมือง คุณภาพชีวิต และการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการขนส่งระบบรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่ในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศนำมาใช้ในการลดต้นทุนโลจิสติกส์และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในยุคที่เทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI , Big Data , 5G ระบบคลาวด์มีความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งยังส่งผลให้มีการพัฒนารถไฟในรูปแบบของดิจิทัลที่จะมีความอัจฉริยะ มีความยืดหยุ่น และช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนในเมืองมีความสะดวกสบายกับการเดินทางด้วยระบบดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งในส่วนหลังนี้ ซีเมนส์ โมบิลิตี้ได้มีการเร่งพัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์แบบเพื่อให้ตอบโจทย์กับเส้นทางรางทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยที่กำลังยกระดับการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ภูมิใจที่ได้ร่วมบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ด้านระบบรางในประเทศไทย โดยเฉพาะล่าสุดกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ สายจิระ-ขอนแก่นที่แล้วเสร็จไปเมื่อปี 2020 ที่ได้พัฒนาระบบขนส่งทางรางเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางที่ครอบคลุม สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลาไปมากกว่าครึ่ง เพราะไม่ต้องรอรถไฟหลีกทางเมื่อสวนกันแบบแต่ก่อน ทำให้รถไฟวิ่งไป-กลับได้ โดยไม่ต้องสลับราง เพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า ซึ่งส่งผลดีโดยรวมต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการขยายโครงข่ายสายทางคู่ให้ครอบคลุมทั่วอีสานและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านต่อไปได้ในอนาคต โดยโครงการรถไฟทางคู่ สายจิระ-ขอนแก่น เป็นตัวอย่างความสำเร็จขนส่งทางรางอัจฉริยะที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีระบบป้องกันเหตุอันตรายของขบวนรถโดยอัตโนมัติ (Automatic Train Protection: ATP) ตามมาตรฐานการเดินรถไฟในกลุ่มประเทศยุโรป European Train Control System (ETCS Level 1) มีข้อดีคือสามารถใส่คำสั่งการควบคุมความเร็ว และการหยุดขบวนรถแบบอัตโนมัติเพิ่มเติมได้ หากมีการขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกำหนด หรือ ฝ่าฝืนสัญญาณ ระบบจะทำการเบรกเพื่อลดความเร็วลง หรือสั่งให้หยุดโดยอัตโนมัติทันที ถือเป็นความปลอดภัยที่มีระดับและทำให้ผู้โดยสารไว้วางใจได้ ”

นายโธมัสค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับระบบรางให้อัจฉริยะและมีความสมบูรณ์แบบด้วยระบบดิจิทัล ล่าสุดบริษัทจึงได้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนเทคโนโลยีการรถไฟให้กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในงาน Asia Pacific Rail 2022 ที่ในปีนี้ ได้จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยนำไฮไลท์นวัตกรรมดิจิทัลในระบบขนส่งที่สามารถรองรับการเดินทางหลายประเภท เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและความเป็นเมือง พร้อมช่วยผลักดันให้ขนส่งระบบรางของประเทศไทยเทียบชั้นกับระดับโลกมานำเสนอ ดังนี้  

·ระบบ Mobility-as-a-Service หรือ MaaS เทคโนโลยีอัจฉริยะสร้างระบบการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ เป็นบริการประเภทใหม่ที่ รวบรวม Big Data จากผู้ใช้งานทั่วทั้งโลกมาวิเคราะห์และเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางแบบเดิมที่ต้องอาศัยผู้ให้บริการ ไปเป็นบริการแบบใหม่ที่ผู้โดยสารสามารถออกแบบการเดินทางได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การจองที่นั่งโดยสาร บริการรถสาธารณะ หรือชำระค่าบริการได้หลายประเภทตามความสะดวก โดยมี MaaS App ที่รองรับการใช้งานและให้บริการด้านการเดินทางตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

·เทคโนโลยีอัจฉริยะ ระบบการจัดการสินทรัพย์ทางรางดิจิทัล Railigent เป็นนวัตกรรม IoT ( Internet of Things) ตัวช่วยในการเชื่อมต่อข้อมูล Big Data ผ่านอินเทอร์เน็ตและ AI แบบ 100% ครอบคลุมทุกฟังก์ชั่นการใช้งานด้วยเทคโนโลยีแบบ Full Loop ตั้งแต่การเก็บข้อมูลจากตัวรถไฟ การวิเคราห์และวางแผนการซ่อมบำรุงดูแลรักษา ไปจนถึงระบบปฏิบัติการภายในต่างๆ เพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น มีความแม่นยำและความรวดเร็วในการดึงข้อมูล ช่วยลดต้นทุนในการดูแลรักษาได้มากกว่า 15% ลดการหยุดการทำงานของระบบและตัวรถไฟที่ไม่ได้วางแผนไว้ ได้ถึง 50 % และยังช่วยลดการใช้พลังงานถึง 10% จึงตอบโจทย์อนาคตคมนาคมขนส่งทางรางอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

·Velaro Novo High-speed rail innovation for sustainable travel นวัตกรรมรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  รถไฟฟ้าความเร็วสูงถือเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ในการเดินทางไกล แต่เพราะการเดินทางไม่ได้มีแค่เรื่องความเร็ว ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมลภาวะที่เพิ่มสูงขึ้น “ซีเมนส์ โมบิลิตี้” จึงออกแบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางยุคใหม่ สามารถประหยัดเวลาในการเดินทางด้วยความเร็วสูงสุดที่ 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 1,200 ที่นั่ง มีคุณสมบัติพิเศษสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์มากกว่า 1,375 ตันต่อคันต่อปี และลดปริมาณการใช้พลังงานมากถึง 30% เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เพื่อประสบการณ์ที่ดีที่สุดและอิสรภาพสูงสุดสำหรับการเดินทาง

· แบบจำลองของ GCP 5000 ซึ่งเป็นระบบอุปกรณ์เครื่องกั้นรถไฟแบบอิเลกทรอนิกส์ เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของรถไฟที่กำลังแล่นเข้ามาและเริ่มระบบเตือนเครื่องกั้นทางรถไฟได้อย่างน่าเชื่อถือ

นอกจากการนำเสนอ 4 ไฮไลท์นวัตกรรมแล้ว ซีเมนส์ โมบิลิตี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ภาครัฐบาล รวมถึงภาคธุรกิจเอกชนของไทยให้ได้รู้เท่าทันเกี่ยวกับเทรนด์การขนส่งแห่งอนาคตผ่านการนำเสนอองค์ความรู้สำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแนวทางปกป้องข้อมูลในระบบการทำงานแบบไร้คนขับที่เชื่อมต่อด้วย 5G แนวทางการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับระบบราง รวมถึงอนาคตของเส้นทางการขนส่งหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญจากซีเมนส์ โมบิลิตี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังได้ใน “งาน Asia Pacific Rail 2022” ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในวันนี้ และ 12 พฤษภาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค นายนายโธมัสค์ กล่าวทิ้งท้าย