Travel Sport & Soft Power

ล้อมคอก!อช.จ่อคุมกำเนิดช้างป่า5จังหวัด เผยช้างเพิ่ม8%ต่อปีจนล้นป่าเข้าชุมชน



ฉะเชิงเทรา-จ่อคุมกำเนิดช้างป่า 5 จังหวัด หลังออกอาระวาดหนักบุกสวนเกษตรทำร้ายผู้คนไปทั่วทั้งภาคตะวันออก เผยมีอัตราเจริญพันธุ์สูงถึงร้อยละ 8 ต่อปี ทำล้นพื้นที่ออกมาสู่ชุมชน พร้อมเดินหน้าโครงการต้อนกลับคืนสู่ถิ่น สร้างแหล่งน้ำและอาหารให้เพียงพอภายในเขตอนุรักษ์ ขณะการช่วยเหลือ จนท.พิทักษ์ป่า เหยื่อรายล่าสุดให้เป็นไปตามสิทธิ์อันพึงได้ เหตุจากไม่ได้เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติราชการ

วันที่ 13 พ.ค.65 เวลา 16.45 น. นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาช้างป่าในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว) ระหว่างเดินทางมาร่วมกิจกรรม “รวมพลังรวมใจนำช้างป่ากลับคืนอ้อมกอดผืนป่าเขาอ่างฤาไน” ที่ อบต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ว่า

ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้พยายามที่จะสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารสัตว์ป่าไว้ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ให้มากที่สุด จากนั้นจะผลักดันช้างป่าที่ออกไปยังพื้นที่ภายนอกให้กลับเข้ามาอยู่ภายในพื้นที่ และจะมีการตรึงโขลงช้างไว้เพื่อให้อยู่แต่ภายในด้วยการสร้างแนวป้องกัน ที่จะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการพูดคุยระดมจากแนวความคิดในทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วม

ในส่วนช้างที่ออกไปยังด้านนอกแล้วนั้น ได้มีการเร่งรัดเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของพฤติกรรมช้างป่า และการสร้างเครือข่ายในการมีส่วนร่วมจากประชาชน เช่น ในวันนี้ ที่มีความสำคัญและจะช่วยบรรเทาเบาบางความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ โดยโอกาสที่เราจะผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่านั้น ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถผลักดันช้างป่ากลับเข้าสู่เขตอนุรักษ์ได้ และจะเป็นการอุดช่องว่าง

ซึ่งรั้วทุกชนิดนั้นไม่สามารถป้องกันช้างป่าได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเช่นกิจกรรมในวันนี้ ที่จะเป็นในเรื่องของรั้วมนุษย์ เมื่อมีคนเห็นช้างจะออกมา เราจะได้มีการป้องกันผลักดันไม่ให้พวกเขาออก เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังที่ดียิ่งขึ้น จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการที่จะร่วมด้วยช่วยกันในทุกภาคส่วน

สำหรับจำนวนประชากรช้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ที่มีการสำรวจเมื่อปี 2561 นั้นมีประมาณ 270 กว่าตัว แต่ปริมาณของช้างกลุ่มป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกทั้งหมดนั้นมีประมาณ 423 ตัวในปี 2561 ขณะที่ปัจจุบันมีอัตราของการเกิดประมาณร้อยละ 8 ต่อปี จึงทำให้ในขณะนี้มีช้างป่าในเขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัดที่เพิ่มขึ้นมาทั้งหมด ที่ประมาณ 470-480 ตัว 

ขณะที่ข้อมูลในเชิงพื้นที่นั้น นักวิชาการยังคงมีแนวคิดที่แตกต่างกันอยู่มาก เกี่ยวกับพื้นที่ป่าต่อจำนวนประชากรช้างในขณะนี้ ว่าจะยังพอรองรับต่อจำนวนที่กำลังเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 8 ต่อปีได้หรือไม่ ซึ่งทางเรานั้นได้พยายามที่จะเข้าไปเพิ่มทั้งแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร เพื่อให้ผืนป่ารอยต่อทั้งหมดมีความอุดมสมบูรณ์สูงขึ้น ในการรองรับกับช้างป่ากลุ่มนี้ ส่วนการควบคุมจำนวนนั้น ได้พยายามที่จะศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมในการควบคุม 

โดยเริ่มนับตั้งแต่วันนี้แล้ว ซึ่งต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของช้างป่า โดยจะต้องดำเนินการภายใต้วิชาการ ที่จะต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกันจากทุกภาคส่วน ทั้งการคัดเลือกช้างที่จะถูกคุมกำเนิดและวิธีการ รวมถึงปริมาณที่จะควบคุมเป็นสิ่งที่ยังจะต้องศึกษา และเป็นสิ่งที่จะต้องตอบต่อสังคมในทุกภาคส่วนให้ได้ โดยจำนวนการควบคุมนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างของประชากร ว่าจะทำได้จำนวนเท่าใด อย่างไร จึงยังเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้ และถือเป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

เพื่อให้ได้หนทางอันเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนในการควบคุมจำนวนช้างป่า ซึ่งการดำเนินการควบคุมนั้น ขณะนี้ได้เริ่มทำแล้ว แต่เป็นในเรื่องของการศึกษา ในการหาข้อมูลอันเป็นที่ยอมรับ และได้แนวทางที่จะให้ปริมาณของช้างพอดีกับขนาดของพื้นที่ป่า ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้มีแนวทางจากงานวิจัยในการที่จะนำพิจารณา และเราได้พยายามที่จะทำตามทฤษฎีหนังช้าง ด้วยการไปเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ พร้อมกับได้มีการประเมินกันมาโดยตลอด ระหว่างจำนวนประชากรช้างต่อปริมาณผืนป่าที่มีอยู่

แต่ปัญหานั้นอยู่ที่ หากปริมาณมีมากกว่าในสิ่งที่จะต้องเป็น ทั้งยังมีอีกหลากหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีของความเป็นธรรมชาติที่ไม่มีการเข้าไปปรับปรุงแหล่งน้ำแหล่งอาหารเลย ก็จะเป็นทฤษฎีหนึ่ง และทฤษฎีที่เราเข้าไปเพิ่มแหล่งน้ำแหล่งอาหารในพื้นที่ป่าไว้แล้วจะเป็นอีกทฤษฎีหนึ่ง ที่จะทำให้มีจำนวนช้างที่มากขึ้นได้ จึงได้หาแนวทางในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า หากมีจำนวนช้างอยู่ 480 ตัว จะทำอย่างไรที่จะทำให้ไม่เพิ่มมากขึ้นต่อไปอีก จนส่งผลกระทบ

หลังจากที่ได้เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำแหล่งอาหารไว้แล้วขณะนี้ จึงน่าจะพอรองรับได้ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะพาพวกเขากลับเข้ามา ตามขั้นตอนด้วยการผลักดันช้างกลับเข้าป่า และการเฝ้าระวังไม่ให้ช้างออกไปอีก จึงต้องสร้างเครือข่ายและให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เข้ามาเป็นแนวร่วม โดยทางกรมอุทยานฯ ได้พยายามที่จะของบประมาณในการนำมาอุดหนุนเครือข่าย ซึ่งคาดว่าจะได้รับในปี 2566 เพื่อให้ประชาชนที่ออกมาเป็นอาสาสมัครได้มีงบประมาณเติมน้ำมัน และใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะสามารถทำให้การผลักดันช้างทำได้ดียิ่งขึ้น นายเผด็จ กล่าว

และยังตอบข้อซักถามผู้สื่อข่าวต่ออีกว่า สำหรับการช่วยเหลือพนักงานพิทักษ์ป่า ที่ถูกช้างทำร้ายจนเสียชีวิตเมื่อเย็นวานนี้ (12 พ.ค.65) ทางหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนยังอยู่ระหว่างการรวบรวมเรื่องเพื่อนำเสนอแจ้งไปยังทางกรมฯ ซึ่งจะมีกองทุนสวัสดิการและสหกรณ์ นอกจากนี้ยังมีเงินช่วยเหลือจากผู้ร่วมงาน ซึ่งทั้งหมดนั้นมีแนวทางในการปฏิบัติอยู่แล้ว 

และจะพยายามดูแลครอบครัวในเรื่องของการชดเชยเยียวยาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในลักษณะของเงินตามกองทุนด้านต่างๆ ที่มีอยู่ เช่น กองทุนผู้พิทักษ์ป่าและการช่วยเหลือจากทางมูลนิธิ ที่เข้ามาร่วมงานกับเรา แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนนัก ในกรณีที่ผู้ตายไม่ได้เสียชีวิตจากการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะมีการดูแลอยู่ในระดับหนึ่งตามสมควร นายเผด็จ กล่าว 

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา