Authority & Harm

แปดริ้วจระเข้ชุกชุมยิ่งกว่าเมืองชาละวัน เผยฟาร์มเลี้ยงที่แปดริ้วมีมากนับแสนตัว



ฉะเชิงเทรา-จระเข้ชุมยิ่งกว่าเมืองชาละวัน ประมงเผยข้อมูลเมืองแปดริ้วเคยมีมากนับแสนตัว ชี้หัวในถังขยะมาจากฟาร์มเลี้ยง ระบุเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงมากเป็นลำดับ 5 ของประเทศ หลังฟาร์มเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจนิยมเลี้ยงไว้กำจัดซากหมูไก่ที่ตาย วอนประชาชนผู้ซื้อเนื้อไปบริโภคจากราคาตกต่ำเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์อื่นที่ราคาพุ่งสูง อย่าสร้างสถานการณ์จนทำสังคมแตกตื่น

วันที่ 15 มิ.ย.65 เวลา 15.30 น. นายสุทธิวุฒิ แก่นทอง หัวหน้ากลุ่มงานบริหารจัดการด้านการประมง รักษาการประมง จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงกรณีมีชาวบ้านพบศีรษะจระเข้ในพื้นที่ ม.8 ต.ปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ถูกนำมาวางอยู่บนถังขยะว่า เป็นศีรษะจระเข้ที่มาจากฟาร์มเลี้ยง หลังจากได้ให้ทางประมง อ.บางคล้า ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีการซื้อขายซากมาจากฟาร์มในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงจุดที่พบ

โดยฟาร์มแห่งดังกล่าวมีการเพาะเลี้ยงจระเข้ไว้จำนวน 2-3 พันตัว จากเดิมในช่วงที่จระเข้มีราคาสูงนั้น มีการเพาะเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมากถึงกว่า 6-7 พันตัว แต่หลังราคาจระเข้ตกต่ำลง จึงมีการเพาะเลี้ยงน้อยลง ซึ่งเดิมนั้นทางฟาร์มจะผ่าเอาหนังและตัดส่วนของศีรษะออก เพื่อเก็บไว้แยกขายให้แก่ผู้ที่นิยมนำไปใช้ประดับบ้าน หรือเป็นงานตั้งโชว์ตามรสนิยมของแต่ละบุคคล รวมถึงการสต๊าฟไว้ขายให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย

โดยจะมีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อหัว แต่หลังจากราคาของจระเข้ตกต่ำลงมามาก ทางฟาร์มจึงทำการผ่าเก็บเอาไว้เฉพาะหนังเพียงอย่างเดียว และจะให้ทั้งเนื้อพร้อมด้วยศีรษะแก่ผู้ซื้อมาทั้งหมด เพื่อแสดงความชัดเจนและยืนยันต่อผู้บริโภคด้วยว่าเป็นเนื้อจระเข้ของแท้ จริงๆ และยังเป็นการสร้างจุดขายจากความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อด้วยว่าเป็นจระเข้แท้แน่นอน ถือเป็นการทำตลาดอย่างหนึ่งเพื่อต้องการให้คนหันมานิยมซื้อเนื้อจระเข้ไปบริโภคมากขึ้น

หลังจากเกิดเหตุการณ์ นำซากของส่วนหัวจระเข้มาทิ้งในถังขยะ ตามที่มีการเผยแพร่ภาพข่าวออกไปนั้น จึงได้ให้ทางประมงอำเภอเข้าไปทำความเข้าใจต่อทางฟาร์มที่จำหน่ายเนื้อจระเข้ พร้อมขอให้แนะนำต่อผู้ที่ซื้อ ถึงวิธีการกำจัดซากที่ต้องทำการฝังกลบทำลายอย่างถูกวิธี แม้ทางฟาร์มจะได้รับอนุญาตให้เพาะเลี้ยงและจำหน่าย หรือค้าสัตว์น้ำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายประมงแล้วก็ตาม แต่จะต้องทำการกำจัดซากอย่างถูกวิธีด้วย

เนื่องจากจระเข้ยังเป็นสัตว์ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามล่า ห้ามค้า และครอบครอง หากมีการครอบครองไม่ถูกต้องยังมีความผิดตามกฎหมาย รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ของซากจระเข้ด้วย หากมีครอบครองไว้จะต้องมีใบต้นขั้วสำหรับรับรองถึงแหล่งที่มา ว่ามีการซื้อมาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และขอวอนฝากถึงประชาชนว่าอย่าสร้างความแตกตื่นต่อผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม นายสุทธิวุฒิ กล่าว

และกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นเดิมมีผู้เพาะเลี้ยงจระเข้เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะภายในฟาร์มเลี้ยงสุกร และฟาร์มเลี้ยงไก่ เพื่อเป็นผลพลอยได้จากซากสัตว์ที่ตายภายในฟาร์ม จนมีการเลี้ยงกันมากนับแสนตัวในอดีต แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงจำนวน 55,893 ตัวใน 63 ฟาร์ม จากผู้เลี้ยงรวม 62 ราย ที่หลังเหลืออยู่ทั่วทั้ง 11 อำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่ฟาร์มผู้เลี้ยงจะหยุดเพาะเลี้ยงชั่วคราวจากภาวะราคาที่ตกต่ำมากกว่าครึ่ง

โดยเฉพาะเมื่อช่วงก่อนหน้านี้ เนื้อจระเข้ขนาดความยาว 2 เมตรเคยขายกันได้ตัวละ 3,000-5,000 บาท ปัจจุบันเหลือเพียงตัวละไม่เกิน 1,500 บาทเท่านั้น โดยจะเป็นส่วนของเนื้อและศีรษะเท่านั้น ส่วนหนังทางฟาร์มจะผ่าเก็บเอาไว้ฟอกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ และเมื่อนำไปแล่ออกมาเป็นเนื้อจะได้ส่วนของเนื้อออกมาประมาณ 30 กก. หรือเฉลี่ยราคาของเนื้อจระเข้จะอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อ กก. ซึ่งถูกกว่าราคาเนื้อสุกร และเนื้อไก่มาก หากซื้อจากฟาร์มที่ผ่าหนังออกแล้วขายทั้งตัว

และหลังราคาจระเข้ตกต่ำลงมาก ฟาร์มส่วนใหญ่มักจะนำไข่ของจระเข้ที่ออกมาไปบริโภคแทนไข่ไก่ด้วย โดยยังไม่มีความต้องการที่จะฟักตัวออกมา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาจระเข้ตกต่ำลงมานั้น เกิดจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ระบาด จนทำให้ไม่สามารถที่จะส่งเนื้อจระเข้ไปขายยังต่างประเทศได้ ทั้งจีน และยุโรป ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติภายในประเทศยังมีน้อยลงด้วย โดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมบริโภคเนื้อจระเข้กันมาก แต่สำหรับคนไทยนั้นยังได้รับความนิยมบริโภคภายในประเทศน้อยมาก จึงทำให้ราคาตกต่ำเช่นในปัจจุบัน

ซึ่งเชื่อว่าหากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ดีขึ้น และมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการส่งออกจระเข้ได้เพิ่มมากขึ้น ทิศทางราคาจะดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงจระเข้มากอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ที่ประมาณ 5-6 รองจาก จ.นครปฐม สมุทรปราการ เพชรบูรณ์ ขณะพื้นที่การเพาะเลี้ยงมากที่สุดใน จ.ฉะเชิงเทรา คือที่ อ.บางคล้า ซึ่งในปัจจุบันยังมีจำนวนมากถึงประมาณ 30,644 ตัวจากฟาร์มเพาะเลี้ยงทั้งหมด 7 ฟาร์มที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน  

ขณะที่พื้นที่ใน ต.สาวชะโงก นั้นปัจจุบันเหลือเพียง 1 ฟาร์มที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง โดยยังมีจระเข้อยู่ในฟาร์มจำนวน 1,395 ตัวจากเดิมที่เคยเพาะเลี้ยงประมาณ 6-7 พันตัว ส่วนจระเข้ที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติและกัดคนงมกุ้งนั้น ไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นจระเข้ตามธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจจะเป็นจระเข้ที่หลุดออกมาจากฟาร์มเลี้ยงในพื้นที่ แต่จากการตรวจสอบยอดจำนวนในฟาร์มเลี้ยงมีการายงานว่า ยังมีจำนวนจระเข้อยู่ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้

ซึ่งทางกรมประมงได้มีการออกระเบียบใหม่ สำหรับการขออนุญาตเพาะเลี้ยงจระเข้ที่เข้มงวดมากขึ้นแล้วเมื่อประมาณกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนที่จะอนุญาตฟาร์มเลี้ยงนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องลงไปตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานฟาร์มที่ต้องมีความแข็งแรง และมีระบบจัดการน้ำทิ้ง ผิดจากในอดีตที่หละหลวมไม่ได้เข้มงวดอย่างเช่นในปัจจุบัน จึงทำให้มีผู้เพาะเลี้ยงกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่ 

ส่วนจระเข้ที่ถูกพบในพื้นที่ ต.สาวชะโงก นั้น เป็นจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยทั้งหมด หลังจากที่ในปีนี้สามารถจับมาได้แล้วจำนวน 2 ตัว จากบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ชาวบ้านถูกจระเข้กัด นายสุทธิวุฒิ ระบุ

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา