In News
ชป.นัดถกแก้ปัญหาเขื่อนหัวนาศรีสะเกษ ยัน24ธ.ค.นี้ร่วมกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ
นครราชสีมา กรมชลประทานยืนยันจัดประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ 24 ธ.ค.นี้แน่นอน
จากกรณีที่กลุ่มผู้แทนราษฏรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวนา แจ้งว่า กรมชลประทาน ไม่ยอมจัดประชุมคณะอนุกรรมการ ฯ ที่ตกลงร่วมกันว่าจะจัดประชุม ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 จะเดินทางไปร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาล นั้น นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ได้ยืนยันว่า จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ 24 ธ.ค. 63 นี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้ประสานงานไปยังศูนย์ดำรงค์ธรรมจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อยืนยันวันเวลาดังกล่าวแล้ว พร้อมกันนี้ได้ประสานชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโนนสังข์จนเป็นที่น่าพอใจ พร้อมกับรับปากว่าจะไม่เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว.
เขื่อนหัวนา เกิดจากโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล เป็นโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 498 ล้านไร่ ในภาคอีสาน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงลงสู่ห้วยหลวงในเขตอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย และผันลงสู่แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลำน้ำสาขา โดยการสร้างเขื่อน 22 เขื่อนเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลถึง 226,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ ทั้งสิ้น 42 ปี โดยแบ่งโครงการออกเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรก ใช้เวลาดำเนินโครงการ 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-2543 โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูล 5 เขื่อน ลำน้ำชี 5 เขื่อน และลำน้ำสาขาอื่นๆ 4 เขื่อน
เขื่อนหัวนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดขอนแก่น ให้สร้างฝายยางกั้นแม่น้ำมูลบริเวณบ้านหัวนา ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และเก็บกักน้ำไว้เพียงตลิ่งแม่น้ำมูล แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2535 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานกลับดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ตัวเขื่อนมีความกว้าง 207.3 เมตร มี 14 บานประตู ซึ่งถือว่าเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโครงการโขง-ชี-มูล (ขนาดใหญ่กว่าเขื่อนราศีไศล 2 เท่า) กั้นแม่น้ำมูลบริเวณบ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งสถานที่ก่อสร้างใหม่ห่างจากบริเวณที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ถึง 10 ก.ม. โดยในเอกสารเผยแพร่โครงการระบุว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2538 ปัจจุบันเหลือเพียงการถมดินกั้นแม่น้ำมูลเพื่อเปลี่ยนเส้นทางของสายน้ำ การก่อสร้างเขื่อนหัวนาก็จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งสมัชชาคนจนได้ขนานนามเขื่อนนี้ว่า “เขื่อนเถื่อนเขื่อนที่กรมพัฒนาฯละเมิดกฎหมาย” (http://www.livingriversiam.org/3river-thai/other-dams/hn.htm)
กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครราชสีมา