In Thailand

พิสูจน์รอยร้าวโยธารุดดูตึกร้าวหน้าวัดทด ขณะชาวบ้านหวั่นใจถูกเบี้ยวข้อตกลง



ฉะเชิงเทรา-พิสูจน์รอยร้าว โยธาฯ แปดริ้วรุดดูตึกแตกหน้าวัดทด หลังทุนต่างชาติระดมตอกเสาเข็มเร่งผุดโกดังสินค้า 6 ชั้น ทำแผ่นดินสะเทือนไปทั่วทั้งชุมชน ชี้ยังไม่กระทบถึงโครงสร้างฐานรากของตัวอาคาร ขณะชาวบ้านหวั่นใจหลังผู้รับเหมาเคยตกลงรับปากไว้ก่อนหลายกรณี แต่ไม่เคยปฏิบัติตามในทุกเงื่อนไข ตามที่ชาวบ้านร้องขอในการเจรจาที่ อบต.คลองนา

วันที่ 28 มิ.ย.65 เวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสถิตย์ นาคสมบูรณ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ได้เดินทางลงไปตรวจสอบดูรอยแตกร้าวภายในบริเวณตึกอาคารพาณิชย์ขนาด 3 ชั้น รวม 18 คูหา ที่บริเวณปากทางเข้าวัดทดราษฎร์เจริญมณีฤทธิ์ พื้นที่ ม.5 ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา หลังชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด

หลังจากได้มีนายทุนต่างชาติ (ไต้หวัน) ได้เข้ามาเร่งระดมตอกเสาเข็มขนาด 12 เมตรซ้อนกันถึง 2 ชั้นต่อ 1 จุดรวมความลึก 24 เมตรจำนวน 387 ต้น เพื่อก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าจำพวกเม็ดพลาสติกสูง 6 ชั้น บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา จนทำให้ตัวอาคารบ้านเรือนของชาวบ้าน โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์แห่งดังกล่าวที่อยู่ติดกัน มีรอยแตกร้าวไปตามผนังของอาคาร ตลอดจนเสาภายใน ตึกและเสากันสาด 

รวมถึงพื้นอาคาร ฝ้าเพดาน ที่เริ่มแตกขยายออกกว้างมากขึ้นกว่าในช่วงแรกที่เริ่มลงมือตอกในทุกๆ วัน ตามแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มในช่วงเกือบ 1 เดือนวันที่ผ่านมา หลังการลงพื้นที่ตรวจสอบ นายสถิตย์ กล่าวว่า เบื้องต้นพบรอยร้าวตามรอยต่อผนังกับเสาอาคารและฝ้าเพดานต่างๆ แต่ยังไม่กระทบไปจนถึงยังโครงสร้างของตัวอาคารที่ยังแข็งแรงอยู่ ส่วนการซ่อมแซมนั้นยังคงต้องตกลงเจรจากันระหว่างผู้เสียหายกับผู้มาดำเนินการของบริษัท 

ส่วนการจะสั่งให้ระงับการดำเนินการก่อสร้างชั่วคราวก่อนได้หรือไม่นั้น อยู่ที่อำนาจของ อปท.ในพื้นที่ ส่วนทางสำนักงานโยธาฯ นั้นไม่มีอำนาจในการสั่งระงับงานก่อสร้าง ส่วนการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านนั้น หลังมีการร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม หลายๆหน่วยงานต้องลงมาดู ว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านได้อย่างไร ซึ่งบริษัทจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการที่มาทำให้อาคารของชาวบ้านเสียหาย 

ส่วนการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายนั้น จะต้องไปดูในรายละเอียดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ว่ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตนยังไม่เห็นในรายละเอียดของแบบการก่อสร้าง จึงยังไม่ขอตอบตอนนี้ หากเขาดำเนินการทำถูกต้องตามแบบก็คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ สำหรับการซ่อมแซมแก้ไขอาคารที่แตกร้าวนั้น อยู่ที่ข้อตกลงระหว่างกันว่าจะมีความพึงพอใจกันได้มากน้อยเพียงใด โดยทางบริษัทจะซ่อมแซมให้ได้แค่ไหน ทางผู้เสียหายจะยินยอมพอใจรับได้มากน้อยอย่างไร 

ซึ่งทางโยธาฯ มาตรวจสอบให้ได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนความแตกต่างระหว่างเข็มตอกและเข็มเจาะตามที่ชาวบ้านร้องขอต่อทางผู้ดำเนินการก่อสร้างนั้น เข็มตอกนั้นรับทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีการสั่นสะเทือนของการตอก และมีผลกระทบต่ออาคารข้างเคียง ส่วนเข็มเจาะนั้นส่วนใหญ่การสั่นสะเทือนจะไม่มี จะมีเพียงการทดสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็มว่ารับน้ำหนักได้หรือไม่ ซึ่งจะไม่สั่นสะเทือนมากนัก ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นมีความแตกต่างกันมาก โดยราคาเข็มเจาะนั้นค่อนข้างสูงกว่ามากถึงกว่า 2 เท่าตัวของเข็มแบบตอก นายสถิตย์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.นภัค สุจิวัฒน์ อายุ 36 ปี เจ้าของตึกที่ได้รับผลกระทบมีรอยแตกร้าวหลายแห่งในตัวอาคาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางผู้ควบคุมการก่อสร้างได้ตกลงรับปากต่อชาวบ้านที่สำนักงาน อบต.คลองนา ก่อนที่จะลงมือตอกเสาเข็มเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.65 ที่ผ่านมาว่า จะมีการขุดแนวร่องน้ำเป็นแนวยาวตลอดพื้นที่ ช่วงบริเวณรอยต่อระหว่างตัวอาคารพาณิชย์กับพื้นที่โครงการเพื่อลดผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนในการตอกเสาเข็ม แต่แล้วก็ไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ตกลงรับปากไว้ แต่กลับไปทำในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากข้อตกลง

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงในเรื่องของแนวของการตอกเสาเข็ม จากเดิมที่เคยรับปากไว้กับชาวบ้านว่าจะตอกตามแนวตั้งฉากกับแนวของอาคารพาณิชย์ และเขาก็ยังไม่ทำตามข้อตกลงที่ได้รับปากไว้อีก โดยไปตอกตามแนวนอน หรือแนวขนานกับตัวอาคารพาณิชย์ในลักษณะขยับเข้ามาหาตัวอาคารตลอดแนว จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อตัวตึกอยากรุนแรงจนมีการแตกร้าว ทำให้การพูดคุยตกลงกันในช่วงที่ผ่านมาไม่มีผลหรือไม่มีการปฏิบัติจริงตามที่ผู้ดำเนินการก่อสร้างได้เคยรับปากต่อชาวบ้านไว้ในทุกเรื่อง น.ส.นภัค กล่าว 

 สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา