In News
กทม.จับมือสธ.มอบของขวัญปีหม่2564 แชร์ข้อมูลสุขภาพเพิ่มประสิทธิภาพรักษา
กรุงเทพฯ-กทม.จับมือ สธ. มอบของขวัญปี 64 แชร์ข้อมูลสุขภาพเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา สนับสนุนการให้บริการระบบสุขภาพแบบเครือข่ายแก่ประชาชน
(22 ธ.ค. 63) เวลา 09.35 น. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยอย่างเท่าเทียมสูงสุด โดยมี นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสำนักอนามัย ผู้บริหารกรมการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 อาคารสำนักการแพทย์
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการนำระบบระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มาสนับสนุนการให้บริการระบบสุขภาพแบบเครือข่ายแก่ประชาชน จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งด้านวิชาการ การศึกษา การวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์
สำหรับระบบระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนด้านการบริการระบบสุขภาพระดับจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพและจัดการปัญหาด้านสุขภาวะของโรคที่เกิดกับประชากรในพื้นที่ ช่วยบริหารและจัดการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพด้วยมาตรฐานที่แลกเปลี่ยนกันได้แบบทันที มีความถูกต้อง รวดเร็ว ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาโดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน API (Application Programming Interface) ระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล (PHR) นั้น เป็นโครงการที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เช่น ข้อมูลผู้ป่วย บุคคลอ้างอิง การแพ้ยา การส่งต่อ การเข้ามารับการรักษา การวินิจฉัยโรค อาการเจ็บป่วย ทำหัตถการและผ่าตัด ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจจากภาพถ่ายทางการแพทย์ ยาและเวภัณฑ์ ผู้ให้บริการ การทำนัด รายการการขอส่งต่อเฉพาะเรื่อง และภาพถ่ายทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์ทราบประวัติการรักษาของผู้ป่วย และสามารถทำการดูแลรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ลักษณะการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ผ่านหนังสือแสดงเจตนารับบริการทางการแพทย์ การรักษาทางไกล และยินยอมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ พัฒนาการใช้งานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล รวมถึงการพัฒนาวิชาการร่วมกันเพื่อให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขในด้านอื่น ๆ ต่อไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ มีผู้แทนในการลงนาม ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยระหว่างสังกัดหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเคยมีประวัติในการรักษากับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ ซึ่งโดยปกติแล้วนั้น จะไม่มีข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยต่างสังกัดหน่วยงานกัน แต่ในปีใหม่นี้ (พ.ศ. 2564) เป็นต้นไป แพทย์ที่ทำการรักษาจะสามารถดึงข้อมูลการรักษาจากโรงพยาบาลเดิมที่ผู้ป่วยเคยรักษาได้ อาทิ เคยรับการรักษาอะไรมาก่อน มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง มีประวัติแพ้ยาอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งการจะแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวได้นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยก่อน โดยกรุงเทพมหานครเชื่อว่าผู้ป่วยจะสามารถเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการยินยอมให้โรงพยาบาลเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง รวดเร็ว มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข จะได้มีการประสานความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านวิชาการ ความก้าวหน้าในการตรวจรักษาผู้ป่วย หรือการร่วมมือกันแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้