In News
ชป.เร่งระบายน้ำท่วมขังใต้รับมือฝนใหม่ เดินหน้าที่นราธิวาส ยะลา และปัตตานี
กรุงเทพฯ-ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนชาวนราธิวาส ยะลา ปัตตานี เป็นอย่างมาก หลังเกิดอุทกภัย ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเกษตรกรที่ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย นั้น
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะรองประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก(ส่วนหน้า) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีหลายพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัยในด้านต่างๆอย่างเต็มที่
กรมชลประทาน โดยศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยภาคใต้ฝั่งตะวันออก(ส่วนหน้า) ได้สั่งการเพื่อให้การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก รวมทั้งการบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการ การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 17 ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 17 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี สำหรับใช้ในการเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน ตลอดจนประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ประเมินความต้องการและความจำเป็น เพื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง มีการติดตั้งเครื่องสูบและเดินเครื่องแล้ว เพื่อสูบพร่องระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 12 พื้นที่ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 17 เครื่อง เครื่องสูบน้ำด้วยระบบไฮดรอลิค (Hydro Flow) 7 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 10 เครื่อง และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีก 11 สถานี และจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง ส่วนประตูระบายน้ำและอาคารชลประทานเปิดพ้นน้ำทุกแห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำออกทะเลอ่าวไทย ลดผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่การเกษตรให้เร็วที่สุด
สำหรับในพื้นที่จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี นั้น จะร่วมบริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลางกับ กฟผ. โดยจะควบคุมการระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ จากนั้นจะใช้เขื่อนปัตตานี เป็นตัวควบคุมการระบายน้ำให้เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชมลุ่มต่ำบริเวณริมแม่น้ำปัตตานี จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา