In News
ติวเข้มบุคลากรทางการแพทย์กรุงเทพฯ กทม.สร้างความมั่นใจป้องกันเชื้อโควิด19
กรุงเทพฯ-กทม.จัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ สร้างความมั่นใจป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ
(23 ธ.ค.63)เวลา 09.00 น. นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมทางวิชาการ ความร่วมมือระหว่างสำนักการแพทย์และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เรื่องการป้องกันการติดเชื้อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสมาคมโรงพยาบาลเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ชั้น 20 อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงพยาบาลกลาง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งมีหลายประเทศได้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง บางประเทศมีการระบาดในระลอก 2 สำหรับประเทศไทย มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยเฉพาะการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการทบทวนการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID - 19) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์จึงร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จัดการอบรมทางวิชาการ เรื่อง การป้องกันการติดเชื้อในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (ASQ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เกี่ยวกับการป้องกัน ควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เพื่อให้บุคลากรเกิดความตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิบัติตัวตามหลักเกณฑ์มาตรฐานและแนวทางการควบคุมป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างถูกต้องและปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากร
ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดสำนักการแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 300 คน สำหรับวิทยากรได้รับเกียรติจากนายแพทย์วรมันต์ ไวดาบ และทีมพยาบาลควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล (ICN) จากโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลตากสิน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สืบเนื่องจากการพบบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก หรือ ASQ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ล่าสุด จำนวน 7 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ธ.ค.63) ทำให้กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องทบทวนมาตรการการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์และแนวทาง การควบคุมป้องกันโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลต่างๆ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จะต้องมีความตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปตรวจประเมิน คัดกรองหรือรักษาผู้ป่วยจะต้องมีความเข้มงวดเรื่องการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายก่อนเข้าไปตรวจเยี่ยมหรือทำหัตถการรวมถึงกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและวิธีการให้บริการผู้ป่วยโดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยน้อยที่สุด โดยอาจจะใช้ระบบการสื่อสารทางไกล เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการดูแลประชาชน รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน