In Global

‘หัวเหวย’ เผยแผนหนุน ‘สถาบันการเงิน’ พลิกโฉมอย่างชาญฉลาดในยุคดิจิทัล



แฟ้มภาพซินหัว : เจสัน เฉา ซีอีโอฝ่ายการเงินดิจิทัลระดับโลกของหัวเหวย

สิงคโปร์, 22 ก.ค. (ซินหัว) -- ณ การประชุมสุดยอดการเงินอัจฉริยะหัวเหวย 2022 ซึ่งเปิดฉากขึ้นในสิงคโปร์เมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) ที่ผ่านมา หัวเหวย (Huawei) ยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน ประกาศแผนริเริ่มเชิงกลยุทธ์ 3 ประการสำหรับอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้รุดหน้าไปอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัล
 
เจสัน เฉา ซีอีโอฝ่ายการเงินดิจิทัลระดับโลก (Huawei Global Digital Finance) ของหัวเหวย เปิดเผยว่าแผนริเริ่ม 3 ประการ ประกอบด้วย 
1. การจัดหาโซลูชันด้านการมีส่วนร่วมของลูกค้า (customer engagement) ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะแบบผสานรวม และสร้างสถาปัตยกรรมไฮบริดและมัลติคลาวด์ (รูปแบบการใช้เทคโนโลยีคลาวด์)
2. จัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตนเองที่ไม่ต้องพึ่งพาฝ่ายอื่น เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินมีประสิทธิภาพสูง ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงเอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีที่หลากหลาย เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน และคลาวด์แบบไฮบริด 
3. สร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านนิเวศธุรกิจระดับโลกขึ้น

เฉากล่าวว่าเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเชื่อมต่อและด้านความอัจฉริยะ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินต่อไปในภายภาคหน้า 

เขากล่าวว่าภายในปี 2025 การเชื่อมต่อทางกายภาพมากกว่า 1 แสนล้านครั้ง จะเป็นการเชื่อมต่อเพื่อเข้าใช้บริการทางการเงินสำหรับ “ทุกสรรพสิ่ง” โดยในอนาคต “สัญญาอัจฉริยะ” จะช่วยให้ผู้คนสามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดในทุกสถานที่ รูปแบบบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็จะปรากฎขึ้นมาให้เห็นเรื่อยๆ ขณะที่ประสบการณ์ของผู้ใช้ปลายทาง การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่แบบเรียลไทม์ การดำเนินงานและการบำรุงรักษา (O&M) การจัดการเครือข่ายที่ซับซ้อนมากขึ้น และมัลติคลาวด์ จะกลายเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งจะมีทั้งโอกาสและความท้าทายซ่อนอยู่
 
ระหว่างการประชุมสุดยอดฯ หัวเหวยและธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS) ได้ประกาศจัดการแสดงนวัตกรรม (Innovation Showcase) ที่อาคารดีบีเอส นิวตัน กรีน (DBS Newton Green) ในสิงคโปร์ด้วย

นอกจากนั้น หัวเหวยยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับธนาคารโอซีบีซี (OCBC Bank) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเป็นดิจิทัลของธนาคารฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า ผ่านแผนริเริ่ม 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาธนาคารสาขาและอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยี IoT อันชาญฉลาด, วิทยาการข้อมูลและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสุดท้ายคือการเร่งการใช้งานคลาวด์

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ได้รวมบุคคลชั้นนำวงการอุตสาหกรรมการเงิน ผู้มีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้บริโภค (KOLs) นักวิชาการ และผู้ทำงานด้านนวัตกรรมจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินในอนาคต โดยร่วมเสาะหาวิธีพัฒนาการเงินแบบชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปด้วยกัน

------------------------------------------------------

(จัดทำโดย Li Xiaoyu, Xinhua Silk Road -- https://en.imsilkroad.com/p/329150.html)