In News
กทม.วอนปชช.อย่าตะหนกหวั่นติดโควิด แนะประเมินตนเองในระบบBkkCovid19
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.วอนประชาชนอย่าตระหนก หากคาดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงขอให้ประเมินตนเองในระบบ BKK COVID-19 ก่อน
(25 ธ.ค. 63) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 104/2563 โดยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ทั้งนี้ภายหลังการประชุมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยโฆษกกรุงเทพมหานคร และ นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย ร่วมกันแถลงผลการประชุม โดยโฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันวันนี้ มีผู้ป่วยเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 6 ราย รวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 40 ราย โดยกรุงเทพมหานครได้สอบสวนโรคแล้วเสร็จ จำนวน 9 ราย ซึ่งในจำนวน 9 รายนี้เป็นผู้ป่วยที่เป็นคน กทม. 7 ราย และผู้ป่วยต่างจังหวัดที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ 2 ราย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แถลง Timeline ไปแล้ว คงเหลือผู้ป่วยที่รอการแถลง Timeline อีกจำนวน 31 ราย โดยวันนี้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยได้สอบสวนโรคแล้วเสร็จเพิ่มอีกจำนวน 4 ราย โดยทั้ง 4 ราย เชื่อมโยงกับจังหวัดสมุทรสาครทั้งสิ้น ทั้งนี้นับต่อจากเดิมที่ได้เปิดเผย Timeline ไปแล้ว ผู้ป่วยรายที่ 10 เป็นข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เขตดุสิต ผู้ป่วยรายที่ 11 เป็นผู้ขายของในตลาดย่านลาดพร้าว ผู้ป่วยรายที่ 12 ได้เดินทางไปซื้อสินค้าที่ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อนำส่งร้านอาหารย่านลาดพร้าว ผู้ป่วยรายที่ 13 เป็นผู้เดินทางไปร้านขายกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่ผู้ป่วยทั้ง 4 ราย เดินทางไปนั้นอยู่ระหว่างการขออนุญาตเจ้าของสถานที่เพื่อเปิดเผยชื่อสถานที่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วกรุงเทพมหานครจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยเร็ว อย่างไรก็ดีกรุงเทพมหานครต้องขออภัยสื่อมวลชนและประชาชนด้วยที่ Timeline ของผู้ติดเชื้ออาจจะออกช้า ทั้งนี้เนื่องจากกรุงเทพมหานครต้องสอบสวนโรคและตรวจสอบในขั้นตอนต่างๆ ให้มีความถูกต้องชัดเจนมากที่สุด
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครยังได้ตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยช่วงเช้าวันนี้พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมการตรวจการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสัมผัสเสี่ยง ณ โรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ซึ่งปัจจุบันได้ Swab พนักงานกลุ่มเสี่ยงในโรงงานดังกล่าวไปแล้วประมาณ 50% ซึ่งกรุงเทพมหานครจะพยายามเร่งดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด สำหรับในส่วนของตลาดซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 การคัดกรอง กรุงเทพมหานครได้กำชับสำนักงานเขตลงพื้นที่สำรวจตลาดและใช้ระบบ BKK Covid-19 ประเมินความเสี่ยง ซึ่งแบ่งเป็น 3 อย่าง คือ การประเมินความเสี่ยงในประวัติการเดินทาง การประเมินความเสี่ยงจากการสัมผัสบุคคลที่ติดเชื้อโควิด-19 ประเมินความเสี่ยงโดยการสังเกตอาการ ซึ่งปัจจุบันทุกสำนักงานเขตได้สำรวจตลาดและความเสี่ยงครบทุกตลาดในกรุงเทพฯ แล้ว โดยยังไม่พบผู้ใดที่มีความเสี่ยง ประเภทที่ 2 การทำ Sentinel Surveillance หรือการสุ่มตรวจ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 222 ราย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนการค้นหาผู้ติดเชื้อด้วยการทำ Active Case Finding ส่วนใหญ่พบผู้ติดเชื้อในโรงงาน ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะเร่งค้นหาให้ได้มากที่สุด
ในส่วนของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้เวลาประมาณ 11.30 น. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มสัมผัสเสี่ยง ณ โรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตบางขุนเทียน รวมทั้งได้ตรวจเยี่ยมจุดสกัดและจุดคัดกรองบุคคลต่างด้าวก่อนเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการปฏิบัติงานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมกันนี้ได้นำกำลังใจจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย นอกจากนี้ยังได้แจ้งแรงงานต่างด้าวให้เข้าใจวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร และรัฐบาลไทย ว่า กรุงเทพมหานครและรัฐบาลไทยไม่ได้รังเกียจแรงงานต่างด้าว เราปฏิบัติกับแรงงานต่างด้าวเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อคนไทย ทั้งนี้กรุงเทพมหานครขอให้แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเข้าประเทศไทยมาอย่างถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ให้ความร่วมมือมาตรวจหาเชื้อ เพื่อให้การควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ กล่าวว่า เนื่องจากการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการมีขีดจำกัดในการปฏิบัติงาน จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และเข้าไปขอตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลซึ่งจะส่งผลให้การทำงานของหน่วยงานราชการที่จำเป็นต้องส่งตัวอย่างตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยความรวดเร็วทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ขอให้ประชาชน ที่คาดว่าตนเองจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำแบบประเมินความเสี่ยงในระบบ BKK COVID-19 หากเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง กรุงเทพมหานครจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามนำท่านส่งตรวจ หรือหากมีข้อสงสัยประการใดสอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (Emergency Operation Center, EOC) โทรศัพท์หมายเลข 09 4386 0051 ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และไม่ร่วมอยู่ในพื้นที่แออัด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและบุคคลใกล้ชิดที่ท่านรักด้วย