In Thailand

กรมน้ำบาดาลเร่งศึกษาเทสเติมน้ำใต้ดิน เพิ่มปริมาณน้ำหวังแก้ปัญหาภัยแล้ง



สกลนคร-กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งศึกษาและทดสอบการเติมน้ำใต้ดิน ผ่านระบบสระเติมน้ำและบ่อวงคอนกรีต เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำบาดาลระดับตื้นในฤดูแล้ง และช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในฤดูฝน สร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร และนครพนม อย่างยั่งยืน

วันนี้ (29 ก.ค.65) ณ สระเติมน้ำบ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วย นายชานน วาสิกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายนเรศ ชมบุญ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร จ่าสิบเอก คำนึง พรหมพิมพ์ นายอำเภอเมืองสกลนคร นางสาวสุภาวดี ตระกูลศรสูรย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ ร่วมพิธีเปิดโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ อย่างเป็นทางการ

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำก่ำเป็นลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ต้นน้ำเริ่มจากหนองหาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงแม่น้ำโขงที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยมีสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดเทจากด้านทิศตะวันตกไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่มที่มีฝนตกชุกเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุในทะเลจีนใต้ และเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณช่วงปลายของลำน้ำมีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงซ้ำซาก จึงทำให้ในฤดูฝนมักเกิดปัญหาอุทกภัย ส่วนในฤดูแล้งลำน้ำมีปริมาณน้ำน้อยทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ โดยได้มอบหมายให้สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการศึกษาหาวิธีแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยทดลองนำน้ำผิวดินที่มีมากในฤดูฝนมากักเก็บไว้ใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำและบ่อวงคอนกรีต ทั้งนี้ให้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน โดยใช้ข้อมูลธรณีฟิสิกส์ ข้อมูลการเจาะทดสอบดิน ข้อมูลการเจาะบ่อสังเกตการณ์ ข้อมูลอัตราการซึมได้ของชั้นดิน และข้อมูลสำรวจรังวัดพื้นที่ หลังจากนั้นจึงดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนามขั้นรายละเอียด เพื่อออกแบบและการก่อสร้างระบบสระเติมน้ำ จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 2) บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม และ 3) บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม

จากผลการศึกษาของแต่ละพื้นที่พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นต่อปีได้มากกว่า 50,000 ลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ 1) บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 112,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 308 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และน้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,805 เมตร ในเวลา 10 ปี พื้นที่ 2) บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 107,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 294 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออก และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 525 เมตร และพื้นที่ 3) บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 58,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,266 เมตร

นอกจากนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า การเติมน้ำใต้ดินนั้นจะเห็นผลได้ดีในระยะยาว ยิ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมมากเท่าไรก็จะยิ่งเติมน้ำใต้ดินได้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับประชาชนในพื้นที่ดำเนินการทั้ง 3 แห่ง ได้มีส่วนร่วมกับโครงการมาโดยตลอด และได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเร่งศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลของโครงการในเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศอีกด้วยนายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวเสริมว่าการเลือกรูปแบบการเติมน้ำใต้ดินขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพธรณีวิทยา คุณภาพ น้ำบาดาลในพื้นที่ ค่าใช้จ่าย ซึ่งมีหลักการคือต้องขุดสระให้ลึกจนถึงชั้นกรวดทราย และผ่านชั้นดินเหนียวจึงจะสามารถทำให้เติมน้ำได้ดี และสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด สามารถพิจารณาใช้รูปแบบการเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อวงคอนกรีต หรือถ้ามีสระน้ำอยู่แล้วสามารถเติมน้ำใต้ดินผ่านสระได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dgr.go.th บริการประชาชน ความรู้ในการเติมน้ำใต้ดิน

ด้าน นายอุดม อุ่มภูธร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านดงมะไฟ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร กล่าวว่า แหล่งน้ำแห่งนี้เดิมเป็นลำห้วยขนาดเล็ก มีน้ำไหลผ่านแต่ไม่สามารถเก็บน้ำได้ หลังกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้ามาทำโครงการดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรในพื้นที่หาน้ำบาดาลได้ง่ายขึ้น คือขุดลึกเพียงไม่กี่เมตรก็เห็นน้ำแล้ว สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ที่หมู่ 3 มีมากกว่า 2 ,000 ไร่.