In Thailand

กาฬสินธุ์ติดตามถอดบทเรียนคัดแยกขยะ ส่งเสริมมีส่วนร่วมของชุมชนต้นทาง



กาฬสินธุ์-จังหวัดกาฬสินธุ์ประชุมเชิงปฏิบัติการ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานและถอดบทเรียนโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ชุดที่ 3

ที่ห้องทศพร โรงแรมริมปาว อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ นายธนภัทร ณ ระนอง ปลัด จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานและถอดบทเรียนโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง โดยมีนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายธนภัทร ณ ระนอง ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้กำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ ตามโรดแม็ปการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหานั้นคือ การสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน โดยเน้นการสร้างจิตสานึก สร้างวินัย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ในการคัดแยกขยะ และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบให้เหลือน้อยที่สุด

นายธนภัทรกล่าวอีกว่า จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการกำหนดแนวทางเพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น โดยให้ส่วนราชการและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการจัดกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทาง หรือการนำขยะมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการลดและคัดแยกขยะ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ตามหลัก 3Rs (Reduce การลดการใช้ Reuse การใช้ช้ำ และ Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่) จึงเป็นทางออกหนึ่ง ที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณขยะมูลฝอยได้ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าส่งเสริมอย่างยิ่ง ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน จะได้ร่วมมือกันลดปริมาณขยะมูลฝอย ด้วยกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะที่ต้นทางในรูปแบบต่างๆ

“ในอนาคต หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน ประสบผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรม ก็จะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบให้ชุมชนหรือหมู่บ้านอื่นๆ ได้ดำเนินการตามในโอกาสต่อๆไป ตัวอย่างเช่น ชุมชนบ้านโนนหนองเบ็ญ หมู่ 5 ต.หนองบัว อ.นามน ที่สามารถดำเนินการจนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 รางวัลชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ระดับประเทศ ในปี 2564 ที่ผ่านมา”  นายธนภัทรกล่าว

ด้านนายประดิษฐ สุดชาดา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าเนื่องด้วยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 760 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ชุดที่ 3  ซึ่งจ.กาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรโครงการ ให้ อปท. จำนวน 14 แห่ง วงเงินที่ให้การสนับสนุน แห่งละไม่เกิน 400,000 บาท โดยจัดสรรให้กับ อปท. ที่ยังไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการจากกองทุนสิ่งแวดล้อมมาก่อน 

นายประดิษฐกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการฯ จากกองทุนสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2559 โดยสนับสนุนโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ชุดที่ 1  ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 10 แห่ง โดยมีเทศบาลที่สามารถดำเนินการต่อยอดกิจกรรมจนประสบผลสำเร็จและสามารถเป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะให้กับ อปท. อื่นๆ ภายในจังหวัด คือ ทต.สมเด็จ โดยสามารถเข้ารอบการประเมินชุมชนปลอดขยะในระดับประเทศ 

“ในปีงบประมาณ 2565 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ชุดที่ 3 เพื่อส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง และปลูกจิตสำนึกประชาชนในการคัดแยกขยะ โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการฯ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และตามแผนการปฏิบัติงานโครงการฯ ได้กำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ชุดที่ 3” นายประดิษฐกล่าว

ทั้งนี้  การประชุมฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและถอดบทเรียนโครงการฯ ของ อปท. ทั้ง 14 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ทต.หนองสอ  ทต.ลำพาน  ทต.หลุบ ทต.เชียงเครือ อ.เมืองกาฬสินธุ์, ทต.หลักเมือง อ.กมลาไสย, ทต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์, ทต.หนองหิน ทต.หนองบัว อ.หนองกุงศรี, ทต.ท่าคันโท ทต.ดงสมบูรณ์ อ.ท่าคันโท, ทต.หัวนาคำ อบต.ยางตลาด อ.ยางตลาด อบต. บ่อแก้ว อ.นาคู และ ทต.หนองอีบุตร อ.ห้วยผึ้ง โดยวิทยากรจากวิทยากรจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ขอนแก่น และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์