EDU Research & ESG

มรส.จับมือภาคีเครือข่ายตั้งธนาคารขยะ สร้าง Zero Waste ชุมชนต้นแบบ



สุราษฏรธานี-มรส.ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายตั้งธนาคารขยะสร้าง Zero Waste เพื่อชุมชนต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องเฟื่องฟ้า สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ดร.อมรวรรณ เรศานนท์ ผู้จัดการโครงการ Low Carbon City แห่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ดำเนินโครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ : สถานีที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่นั่งยืน (SDG Station) สร้างพื้นที่นำร่องการจัดการขยะ ตรวจสอบแหล่งกำเนิดขยะ เร่งบริหารจัดการในชุมชนท้องถิ่น พร้อมด้วยธนาคารออมสิน และบริษัท คาร์กิลล์ ประเทศไทย ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน โดยมี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เกียรติกล่าวเปิดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้มีการดำเนินการจัดการด้านขยะภายในมหาวิทยาลัยฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายต้องการให้ขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) บุคลากรภายในองค์กรมีความตระหนักและปฏิบัติต่อการจัดการขยะอย่างเคร่งครัด เกิดการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ เกิดงานวิจัยจากการศึกษาเรื่องการจัดการขยะในมิติต่าง ๆ หลังจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ เร่งผลักดันพร้อมขอความร่วมมือจากนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ตลอดประชาชนทุกภาคส่วนลดการใช้แก้วพลาสติก โดยส่งเสริมสนับสนุนการใช้แก้วนำส่วนตัวแบบพกพาได้หรือการนำพลาสติกมาใช้ซ้ำ ตลอดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะก่อนลงถัง ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีการจัดการถังขยะให้พร้อมต่อการคัดแยก

สำหรับการดำเนินโครงการธนาคารขยะเพื่อชุมชนต้นแบบ : สถานีที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่นั่งยืน (SDG Station) ได้พิจารณาคัดเลือกให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่นำร่องการจัดการขยะ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับพัฒนาโครงการ ด้วยการตรวจสอบแหล่งกำเนิดขยะ เช่น อาคารเรียน โรงอาหาร หอพักนักศึกษา ร่วมติดตามเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อสังเกตการณ์วิธีการบริหารจัดการขยะที่เกิดขั้น ตั้งแต่กระบวนการแรกจากการรวบรวม คัดแยก สู่กระบวนการขนส่งไปยังพื้นที่เฉพาะเพื่อนำไปบริหารจัดการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยฯ ตรวจสอบและประเมินสัดส่วนของขยะ และเข้าสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่นำเสนอและหารือถึงการดำเนินงานต่อไป