In News

ก.เกษตรฯจับมือคปภ.พร้อม2โบรกเกอร์ เปิด'คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา'



กรุงเทพฯ-ก.เกษตรฯ จับมือ คปภ. พร้อม 2 บริษัท โบรกเกอร์ประกันภัย TQM TQR เปิดตัวโครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” นำร่อง อกม. และ ศกอ. 20,000 กรมธรรม์

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดตัว “โครงการคุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมมือกันในการสร้างแรงกระตุ้นให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบประกันภัย ผ่านการมอบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุรายย่อย หรือไมโครอินชัวรันส์ จำนวน 20,000 กรมธรรม์ แก่อาสาสมัครของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมความสูญเสียของร่างกายและชีวิต อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ในวงเงินเอาประกันสูงสุด 100,000 บาท รวมไปถึงค่าชดเชยจากการขาดรายได้ระหว่างเข้ารับการรักษาตัวในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ภายในระยะเวลา 60 วัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายนำร่อง ได้แก่ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ผู้ทำหน้าที่ประสานงานและเชื่อมโยงการทำงานของอาสาสมัครเกษตรในสาขาต่าง ๆ เกษตรกร องค์กร และหน่วยงานในระดับหมู่บ้าน และเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสำรวจข้อมูลการเกษตร ติดตามและรายงานสถานการณ์การผลิตและราคาสินค้าเกษตรในพื้นที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยมีบุคลากรที่มุ่งมั่นทำงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคหลายหมื่นคน แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงปัญหาและความต้องการของเกษตรกรรายบุคคลที่มีมากถึง 7.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มอาสาสมัครเกษตรนับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านการเกษตรในพื้นที่ ประสานงาน และเชื่อมโยงเกษตรกรกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ ในการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร แต่ในปัจจุบันนอกจากเกษตรกรจะต้องเผชิญกับความเสี่ยง ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความผันผวนของราคา ความไม่แน่นอนของตลาด รวมไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความเสี่ยงทางด้านอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและในทุกสถานที่ โดยไม่ได้คาดคิด การดำเนินโครงการดังกล่าว จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมและปกป้องเกษตรกรไว้ล่วงหน้า เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เสริมภูมิคุ้มกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายเพื่อให้ความคุ้มครองและดูแลอาสาสมัครเกษตร รวมไปถึงเกษตรกรทุกท่านให้ครอบคลุมในด้านอื่น ๆ ต่อไป เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงปลอดภัย

"ต้องขอขอบคุณในความเสียสละและความทุ่มเทในการทำงานของอาสาสมัครเกษตรทุก ๆ ท่าน และขอขอบคุณทาง คปภ. รวมทั้ง บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ให้ความร่วมมือและผลักดันโครงการ “คุ้มครองอุบัติเหตุเซฟ เกษตรอาสา” จนเป็นผลสำเร็จร่วมกัน” อย่างไรก็ตาม จะพยายามผลักดันให้มีโครงการระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ต่อไป รวมถึงจะให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลให้ได้ พร้อม ๆ กับค่าป่วยการของอาสาสมัครเกษตรทั่วประเทศด้วย" รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว

ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ อกม. และ ศกอ. ที่สนใจทำประกันอุบัติเหตุในโครงการนี้ สามารถสมัครได้ผ่านระบบออนไลน์ QR Code ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นในการสมัคร ก็สามารถรับความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุได้ทันที โดยความร่วมมือระหว่าง สศก. และ คปภ. จะยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบประกันภัยภาคเกษตรร่วมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองพี่น้องเกษตรกร ซึ่งดำเนินการร่วมกันภายใต้ “คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร” ในการกำหนดทิศทางและแนวทางในการดำเนินการ ทั้งการขยายขอบเขตของการประกันภัยในปัจจุบันไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ  นอกเหนือไปจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หรือสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูง รวมถึงต่อยอดกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าเกษตรที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว นอกจากนี้ จะร่วมกันสร้างทีมงานเพื่อร่วมมือกันทางด้านวิชาการ คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ ๆ โดยศึกษาข้อมูล อย่างครอบคลุม ครบทุกมิติความเสี่ยง ทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิต ราคา ตลาด และความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการคุ้มครองความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ และหันมาใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเอง