In Bangkok

กทม.แนะนำวิธีดูแลเด็กติดเชื้อโควิด19 แบบ Home Isolation



กรุงเทพฯ-สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม.แนะวิธีดูแลเด็กติดเชื้อโควิด 19 แบบ Home Isolation

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการดูแลเด็กติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องกักตัว (Home Isolation) ว่า กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ได้เน้นย้ำสร้างความรู้ความเข้าใจการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในกลุ่มเด็กให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็ก ตลอดจนเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ภาคประชาสังคม และสถานศึกษาให้เข้าใจถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งแนะนำวิธีป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อ การเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล ตลอดจนการดูแลเมื่อเด็กป่วย เนื่องจากผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง แต่ในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเปลี่ยนแปลง หรืออาการแย่ลง ให้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลอย่างทันท่วงที รวมถึงแนะนำให้ผู้ปกครอง หรือผู้ที่ดูแลเด็กฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด 19

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า แม้จะมีการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่มีความรุนแรงน้อยกว่าที่ผ่านมา การที่เด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจมาจากเด็กอายุ 5 - 11 ปี มีการเปิดเรียนในโรงเรียนตามปกติ โดยอาการของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้ประมาณ 5 วัน แต่ต้องสังเกตอาการถึง 10 วัน การรักษาในเด็กเหมือนการรักษาในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัด โดยเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งต้องกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) จะมีอุปกรณ์ที่ใช้ติดตามอาการและบรรเทาอาการเด็กที่บ้าน ได้แก่ ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อุปกรณ์ที่สามารถใช้ถ่ายภาพ หรือบันทึกอาการของเด็กได้ ยาสามัญประจำบ้าน เพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ (พาราเซตามอล) ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เกลือแร่ สังเกตอาการโดยรวมของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรง เชื้อลงปอดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งได้แยกเตียงสำหรับเด็กไว้รองรับ โดยติดต่อได้ที่สายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ เพื่อประสานและนำส่งผู้ป่วย

ทั้งนี้ ช่วงอายุเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่พบบ่อย คือ ช่วงอายุ 3 - 11 ปี กลุ่มที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคสมอง หัวใจ มะเร็ง หรือกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง สำหรับการเข้ารับการรักษาจะต้องผ่านการคัดกรองประเมินระดับความรุนแรงตามอาการของผู้ป่วย หากเด็กมีอาการไข้ไม่สูง ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ไม่ซึม รับประทานอาหารได้ มีผู้ดูแล และมีห้องน้ำแยกป้องกันการกระจายของเชื้อ จะสามารถเข้ารับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPSI หรือ “เจอ แจก จบ” หรือรักษาที่บ้าน โดยมีทีมพยาบาลติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ส่วนเด็กที่มีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง ซึม ไม่รับประทานอาหาร หายใจเร็ว มีระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วน้อยกว่าร้อยละ 96 ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง