In Global
จับตามอง'ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า'ในปท.จีน เติบโตต่อเนื่อง
ความต้องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีปัจจัยสำคัญคือการผลักดันจากรัฐบาลจีน
โดยจีนเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศ กลุ่ม Clean Energy Ministerial ที่มีการผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมาย EV30@30 คือ การมียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ของยอดขายรถยนต์ภายในปี ค.ศ. 2030
ในแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปีค.ศ.2015 เพื่อยกระดับภาคการผลิตของจีน ไปสู่มหาอำนาจด้านการผลิตของโลก มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาใน 10 อุตสาหกรรม โดยหนึ่งในนั้นคือ ยานยนต์ประหยัดพลังงานและยานยนต์พลังงานใหม่
นอกจากนี้ เมืองต่างๆ ยังมีแนวทางส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่นเกาะไหหลำของจีนจะห้ามจำหน่ายรถที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลภายในปี 2573 เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนจกที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รัฐบาลจีนจึงออกมาตรการหนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหลายมาตรการ อาทิ มาตรการสำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่ การให้บริษัทผู้ผลิตยานยนต์สามารถขายเครดิต EV ส่วนเกินให้แก่บริษัทอื่น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขี้น การอนุญาตให้บริษัทต่างชาติร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตจีนในรูปแบบของกิจการร่วมค้า การขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ขณะเดียวกันก็มีมาตรการจูงใจผู้บริโภค โดยรัฐบาลกลางมีมาตรการลดภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อรถที่ปล่อยมลพิษต่ำ รัฐบาลท้องถิ่นของหลายเมือง เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เซินเจ้น มีมาตรการให้เงินอุดหนุน 10,000 – 40,000 หยวน หรือประมาณ 50,000-200,000 บาท สำหรับผู้ซื้ยานยนต์ไฟฟ้า
สอดคล้องกับที่ผู้บริโภคชาวจีนให้เหตุผลในการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการอุดหนุนจากภาครัฐ ที่ทำให้ซื้ยานยนต์ไฟฟ้าในราคาถูกลง รวมถึงกระแส “รักษ์โลก” ที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญและอยากจะสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นตอนนี้จึงมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 200 รายที่เข้าสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้เลือกหลากหลายในราคาที่ถูกลง ถือเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ จากที่เป็นผู้รับผลิต กลายเป็น ผู้ผลิตที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง
ไม่เพียงแต่จะทำตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ตอนนี้แบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าของจีนหลายแบรนด์กลายเป็นที่รู้จักในตลาดโลก โดยจุดแข็งที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจีน คือจีนยังสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและเป็นผู้นำในตลาดแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของโลกด้วย ทำให้จีนสามารถพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าต่างประเทศ
อย่างค่าย “BYD” ที่ปีนี้บุกตลาดยุโรป หลายประเทศ ทั้งนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ฝรั่งเศส
ค่าย “อู่หลิง” ได้เริ่มส่งชิ้นส่วนการผลิตรถ NEV ไปยังอินโดนีเซีย และจะขยายตลาดไปทั่วอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรป อินเดีย อียิปต์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าของจีน กําลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศ โดยในอนาคตรัฐบาลจีนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังจะต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดประเทศ และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย