In News

'พาน้องกลับมาเรียน'ประสบความสำเร็จ กลับมาเรียนแล้ว2แสนคนครบ100%ปีนี้



กรุงเทพฯ-โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ประสบความสำเร็จ พาเด็กกลับมาเรียนแล้วกว่า 2 แสนคน ตั้งเป้าพากลับครบ 100% ภายในปีนี้

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ โดยในช่วงเดือน พ.ย.2564 จากผลสำรวจพบว่า มีเด็กไทยตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษา มากถึง 238,707 คน กระทรวงศึกษาธิการ จึงร่วมกับร่วมงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการฯ เพื่อนำเด็กที่ตกหล่นหลุดจากระบบการศึกษา ให้ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยข้อมูลล่าสุด ผลการดำเนินงานเดือน ส.ค.2565 พากลับมาเรียนแล้ว 220,754 คน เหลือที่ตกหล่น 17,953 คน โดยเป็นกลุ่มคนปกติ 8,741 คน ผู้พิการในสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 886 คน ผู้พิการในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) 8,326 คน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งเป้าค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบ กลับมาให้ได้ครบ 100% ในปี 2565 นี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน”  เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกเด็กหลุดออกจากระบบ โดยเป็นการคืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบต้องเป็นศูนย์ โดยการดำเนินงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เช่น ปัญหาด้านครอบครัว ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ครอบครัวหย่าร้าง นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 พบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน ทำให้เรียนไม่ทัน จึงหยุดเรียน ประกอบกับผู้ปกครองพาเด็กไปทำงานรับจ้าง ส่งผลกระทบต่อการติดตามตัวเด็ก โดยในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหลายมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย