In Bangkok

กทม.พร้อมกำหนดกลไกที่ชัดเจนรับมือ การถ่ายโอนบริการสาธารณะให้แก่อปท. 



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯทวิดาประชุมหารือเตรียมพร้อมกำหนดกลไกที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนภารกิจตามแนวทางการถ่ายโอนบริการสาธารณะให้แก่อปท. 

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือแนวทางและนโยบายการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการถ่ายโอนบริการสาธารณะให้แก่อปท. ที่มีลักษณะพิเศษ (อสมมาตร) โดยที่ประชุมวันนี้ได้หารือกลไกการทำงานของกทม.ภายใต้การถ่ายโอนบริการสาธารณะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การสาธารณสุข การสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง การถ่ายโอนภารกิจด้านการจัดการจราจร และการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม 

“ในส่วนของกลไกการทำงาน ภายใต้กฎหมายกระจายอำนาจหากมีความชัดเจน และสามารถเกิดขึ้นได้จริง กรุงเทพมหานครก็พร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งกลไกทั้งหมดจะทำเกิดความโปร่งใสในการทำงาน และการหารือจะทำให้มีแนวทางในการทำงานด้วย ซึ่งคงต้องมีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันหรือมีทีมงานเพื่อให้เกิดภาพการทำงานที่ชัดเจน” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จากการหารือพบว่าเมื่อทำการขึ้นทะเบียนข้อมูลแต่ละส่วนจะไม่ได้รวบรวมในจุดเดียวกัน ดังนั้นในอนาคตจะดำเนินการรวบรวมเพื่อให้มีศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลและกรุงเทพมหานครจะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ 

ประเด็นหารือด้านการสาธารณสุข และการสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดว่า กลุ่มประชาชนที่มีบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 0 หรือผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์สิทธิได้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีประมาณ 12,000 คน โดยมีโรงพยาบาลในพื้นที่กทม.ที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลประชาชนในกลุ่มนี้ 3 แห่ง คือ รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตน์ราชธานี และรพ.ราชวิถี สธ.จึงขอให้กรุงเทพมหานครร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อดูแลผู้ไม่มีบัตรประชาชนหรือไม่ทราบสิทธิการรักษานี้เพิ่มเติม ซึ่งรพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 12 แห่ง รวมถึงวชิรพยาบาล มีศักยภาพเพียงพอและพร้อมที่จะเข้าร่วมดูแลรักษา ทั้งนี้จะมีการหารือกระบวนการเบิกจ่ายค่ารักษาจากสธ. อีกครั้ง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ราคาค่ารักษาต่อคนและให้สธ.จัดสรรงบประมาณสำหรับกรุงเทพมหานคร ให้ภาพรวมการบริหารจัดการสาธารณสุขในสถานพยาบาลของกทม.เป็นไปอย่างเรียบร้อย 

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ไม่มีอำนาจถึงที่สุดภายใต้พรบ.บางอย่าง เร็วๆ นี้จะเชิญกรมการแพทย์แผนไทย มาร่วมหารือเกี่ยวกับการใช้และจำหน่ายกัญชา และกระท่อม โดยออกเป็นขั้นตอนปฏิบัติในส่วนที่กทม.ไม่สามารถออกเองได้ เพื่อให้ขั้นตอนการทำงานมีความชัดเจนมากที่สุด

การถ่ายโอนภารกิจด้านการจัดการจราจร ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งในส่วนของลำคลองที่ประชาชนใช้ใช้สัญจรเป็นหลัก เช่น คลองแสนแสบ กรุงเทพมหานครก็ไม่สามารถบริหารจัดการการเดินเรือได้ครบวงจร 

การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการติดตามกระบวนการ EIA ซึ่งไม่ชัดเจน ทั้งนี้ กระบวนการ EIA ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบังคับสถานประกอบและอาคารให้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจากการหารือเห็นร่วมกันว่าควรมีการออกแบบระบบหรือจัดทำเป็นคู่มือให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องมีการติดตามและกำกับการทำงานเพื่อให้เกิดผลต่อเนื่อง

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน ตามแนวทางของบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวและเป็นปอดแห่งหนึ่งของชาวกรุงเทพฯ เนื่องจากมีพื้นที่ติดกัน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อนำร่องกิจกรรมร่วมกันตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ให้มีประชาชนร่วมดำเนินการ และมีการจัดสรรงบประมาณตามระเบียบที่สามารถใช้ได้ ซึ่งหากโครงการนี้สามารถเดินหน้าได้จะมีการขยายผลไปยังชุมชนที่เป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดใกล้เคียงอื่นต่อไป

สำหรับการประชุมวันนี้เป็นการรือร่วมกับ รศ.ธนกร ศรียากูล ประธานอนุกรรมการการขับเคลื่อนการถ่ายโอนบริการสาธารณะให้แก่อปท. ที่มีลักษณะพิเศษ (อสมมาตร) สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักพัฒนาสังคม สำนักการแพทย์ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. ร่วมประชุม ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง