In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติชวนคิดใหญ่เริ่มทำจากเล็กๆ ขยายผลให้ไว เพื่อพัฒนาเมืองยั่งยืน



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชวนคิดใหญ่ แล้วเริ่มทำจากเล็กๆ และขยายผลให้ไว เพื่อพัฒนาเมืองยั่งยืน

(2 ก.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงปาฐกถาเรื่อง​ "นโยบายเพื่อเมืองที่ยั่งยืนและน่าอยู่ของทุกคน” และร่วมพูดคุยในช่วง “นิสิตถาม ผู้ว่าฯ ตอบ​ เพื่อร่วมสร้างกรุงเทพฯ เมืองในฝัน” ในงาน "Chula Sustainability Fest 2022” ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2565 ณ อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หลักของ​การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability คือ​ Think Big คิดใหญ่ไว้ก่อน​ แต่ Start Small เริ่มทำคนละนิดคนละหน่อย​ เช่น​ ปลูกต้นไม้คนละต้นในวันอาทิตย์​ เริ่มแยกขยะของตัวเอง​ สุดท้ายกรุงเทพฯ จะดีขึ้น ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน  

ผู้ว่าฯ กทม. ได้ยกตัวอย่างเรื่องการคิดใหญ่แต่เริ่มทำจากเล็กๆ และขยายผลให้เร็ว เช่น นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นภายใน 4 ปี ตอนแรกมีแต่คนคิดว่าไม่สามารถทำได้​ แต่ในภายใน​ 3 เดือน มีคนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1 ล้าน​ 6 แสนต้น​ และเชื่อว่าจะปลูก​ 2 ล้านต้น ภายใน 4 ปี​ได้​โดยไม่ได้ใช้งบประมาณ​แต่อาศัยความร่วมมือร่วมใจของพวกเราทุกคน ซึ่งเมื่อทำสำเร็จเราจะลดอุณหภูมิของเมืองได้​ ลดฝุ่นของเมืองได้​ เกิดประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมแน่นอน​ โดยกล่าวด้วยว่า​การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการไม่เอาทรัพยากรในอนาคตของคนรุ่นใหม่มาใช้​ เช่น การไม่เผาสร้างก๊าซเรือนกระจก หรือไม่เอาขยะในปัจจุบันไปฝังกลบไว้จนสร้างมลพิษให้เด็กรุ่นหน้า  

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องจัดการ 3 เรื่องในการขับเคลื่อนการทำเมืองน่าอยู่ เรื่องแรก คือ การเน้น Action Plan ที่วัดผลได้ มากกว่าสโลแกน เช่น เราสโลแกนว่าจะ​ Net Zero ภายใน​ 30 ปี​ แต่สิ่งที่ควรทำคือ ลดเป้าหมายใหญ่มาเป็นเรื่องง่ายๆ​ เช่น​ จะลดคาร์บอน​ 3% ต่อปี​ อย่างน้อยปีต่อปีจะเห็นผลชัดเจน​ เป็นต้น​ 

เรื่องที่ 2 บริษัทใหญ่ๆ ต้องนึกถึง​ SME ตัวน้อยด้วย​ คือ บริษัทใหญ่ๆ มีทรัพยากรที่พร้อมทำ Net Zero แต่เรายังมี SME รายย่อยอีกกว่า 3 ล้านราย 9 ล้านคน​ ที่อาจทำตามไม่ไหว​เพราะต้องเพิ่มต้นทุนมหาศาล​ เช่น​ การเปลี่ยนภาชนะห่อของกลับบ้านก็ยากแล้ว ดังนั้นต้องคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรที่ไม่เพิ่มภาระต้นทุน รวมถึงการทำให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติจริงได้​ 

เรื่องที่ 3 ต้องทำ Scale​​ เพื่อขยายผลให้ได้​ ยกตัวอย่างจุฬาฯ ที่ใช้รถไฟฟ้า​ MuvMi ภายในมหาวิทยาลัยโดยเริ่มจากการทำ​ Sandbox​ แล้วจึงขยายไปทั่วประเทศ​ รวมถึงโครงการของกทม.​"ไม่เทรวม" คือแยกเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป​ 4 กันยายน นี้​ โดยเริ่ม​จาก 3 เขตต้นแบบ​ คือ​ หนองแขม​ พญาไท​ และปทุมวัน​ แล้วจึงขยายไป​ 50 เขต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ซับซ้อนแต่ต้อง​ Scale ให้ได้​ 

สำหรับ​งาน “Chula Sustainability Fest 2022” เป็นเทศกาลด้านการพัฒนาความยั่งยืนครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นครั้งแรก นำเสนอหลากหลายกิจกรรมและโครงการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมความยั่งยืนในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสุขภาวะ ตลอดจนการพัฒนาสังคม กิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้ง 3 วัน ประกอบด้วย นิทรรศการและการนำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน​ งานเสวนา Workshop นิทรรศการให้ความรู้ ศิลปะบำบัด ดนตรีในสวน ตลาดนัดสีเขียว Greenery Market และ Chula SDGs Market การฉายหนังกลางแปลง ฯลฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนมุมมอง การใช้ชีวิตการทำงานที่ส่งผลดีต่อตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน​