In Global
จีนให้ความสำคัญกับปฏิรูปด้านการศึกษา ตั้งแต่เปิดประเทศโดยรศ.วิภา อุตมฉันท์
เติ้งเสี่ยวผิงเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ครั้งจีนเปิดประเทศใหม่ ๆ ว่า การศึกษาสัมพันธ์อย่างแนบแน่นและสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาประเทศของจีนในทุกขั้นตอน
“เราจะต้องสร้างระบบการศึกษาที่มุ่งหน้าสู่ความทันสมัย มุ่งหน้าสู่อนาคต มุ่งไปในทิศทางเดียวกับแนวโน้มของโลก”
แต่ตลอดหลายสิบปีตั้งแต่จีนเปิดประเทศ กระแสข่าวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจการเมืองของจีน โดยเฉพาะการผงาดตัวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำอันดับ 2 ของโลก มีเรื่องราวมากมายที่ชาวโลกให้ความสนใจ จนอาจกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาและปฏิรูประบบการศึกษาของจีนได้รับการพูดถึงน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่ภายในประเทศจีนระบบการศึกษามีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ไม่เพียงแต่ประเทศจีน ทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆ ในโลกต่างก็พูดถึงการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ทันยุคทันสมัยเช่นกัน แตกต่างกันที่แต่ละประเทศจะการให้ความสำคัญมากหรือน้อย ย่อมขึ้นต่อวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้นำ กล่าวสำหรับประเทศไทย ประเด็นเรื่องการศึกษาก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากชึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด เด็กนักเรียนระดับมัธยมในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มนักเรียนเลว” ถึงกับลงถนนถือป้ายยื่นข้อเสนอให้ผู้ใหญ่ในกระทรวงฯรับปากว่าจะปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย เพิ่มเนื้อหาวิชาที่ตอบสนองโลกแห่งเทคโนโลยีในอนาคต เรียกร้องไปจนกระทั่งเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลที่พวกเขาเห็นว่าจุกจิกไร้สาระ เช่น การบังคับให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบ บังคับเรื่องทรงผม เรียกร้องให้เลิกการทำโทษนักเรียนด้วยการตี เป็นต้น ข้อเรียกร้องเหล่านี้อาจดูจุกจิกไร้สาระ แต่หากผู้ใหญ่เปิดใจกว้างรับฟังก็คงต้องยอมรับว่า นี่คือเสียงสะท้อนแห่งความคับข้องใจของเด็กรุ่นใหม่ที่มีต่อสิ่งเก่าที่ยังหยุดนิ่งไม่ยอมปรับตัวไปตามยุคสมัย
ย้อนกลับมาดูภายในในประเทศจีนอีกครั้ง แม้ว่าการปฏิรูปการศึกษาไม่ใช่เรื่องเด่นเรื่องดังที่เราได้ยินกันหนาหู แต่เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำจีนให้ความสำคัญในระดับต้น ๆ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จึงยังคงเดินหน้าไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จีนจะไม่ยอมให้ระบบการศึกษากลายเป็นอุปสรรคฉุดรั้งการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของตนในยุคเปิดประเทศอย่างเด็ดขาด ยกตัวอย่าง ปี 2010 นายหวังติ่งหวา รองผู้อำนวยการใหญ่กรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดกระทรวงศึกษาของจีนได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาที่ Asia Society and the Council of Chief State School Officers คำคมที่เขากล่าวต่อที่ประชุมก็คือ “จีนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผันตัวเองจากประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์ “มาก” ให้กลายเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่ “แข็งแกร่ง” และจากคำขวัญนี้จึงได้ขยายความต่อไปเป็น “ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาการศึกษา 4 ด้าน” คือ ขยายการศึกษาไปให้ถึงเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กระดับการศึกษาภาคบังคับให้ทั่วถึง; ให้ความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กทุกคนมากขึ้นอีก; พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยสนองตอบต่อความเป็นจริงของโลกยุคใหม่ ไม่ให้นักเรียนท่องจำสูตรที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง เพิ่มหลักสูตรวิทยาศาสตร์และอวกาศ ฝึกการคิดคำนวณและการทดลองในห้องปฏิบัติการให้มาก; มาตรการวัดผลการศึกษาต้องเที่ยงตรงและเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อที่เขาเสนอไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อนำลงสู่การปฎิบัติ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีการอพยพและการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนสูงที่สุดในโลก แต่ละปีมีคนจีนอย่างน้อย 300 ล้านคนอพยพจากชนบทเข้าเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า กล่าวในแง่ของการปฏิรูปการศึกษาย่อมหมายความว่า รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาโรงเรียนเพิ่มขึ้นมารองรับครอบครัวใหม่ๆ ในเขตเมืองไม่รู้จักหยุดจักหย่อน จึงจะสามารถสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาแก่พลเมืองทุกคนได้ แต่หวังติ่งหวาหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเสนอให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นแก่ครู แล้วให้ครูหมุนเวียนเดินทางไปสอนตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศทุก ๆ 5 ปี ด้วยวิธีนี้จึงทำให้นักเรียนในชนบทห่างไกลมีโอกาสได้เรียนกับครูเก่ง ๆ มีประสบการณ์ เสมอหน้าเด็กในเมืองใหญ่ที่เจริญแล้ว
ร่างยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาการศึกษา 4 ด้านนี้ เมื่อได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างดีแล้ว จะนำลงสู่การปฏิบัติมีกำหนดเวลา 10 ปี ในระหว่างนี้ กระทรวงศึกษาจะเปิดรับความเห็นและข้อวิจารณ์ต่าง ๆ จากสังคม ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นจำนวนนับล้าน และจะกระจายแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อนี้ไปให้แก่ครูและนักเรียนทั่วประเทศรับรู้ ในที่นี้มีทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษากว่า 370,000 แห่ง ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาอีกกว่า 200 ล้านคน ฯลฯ