Biz news

เสวนา'พัฒนา-ท้ายทาย'ในเอเชียแปซิฟิก ประชุมเอเปคไทยจุดเชื่อม2ยักษ์ใหญ่โลก



กรุงเทพฯ-ม.ธุรกิจบัณฑิตผนึกพันธมิตรจัดเสวนา หัวข้อ “การพัฒนาและความท้าทายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” โดยมีอธิบดีกรมเศรษฐกิจฯกต.เปิดหน้า ด้วย "APEC2022 เตรียมปัดฝุ่น "เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิต(FTA-AP) ขณะที่วิทยากรผู้เชียวชาญเศรษฐกิจระหว่างต่างปรเทศ ยันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ระหว่างช่วงรอยต่อประเทศยักษ์ใหญ่2ขั้ว รักษาฐานและขยายฐาน กับสภาวะ "อเมริกาขาลงและจีนขาขึ้น" ตบท้ายด้วย"ครัวโลก"ฟันธงอาจไม่ใช่ "ไทย"

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ “การพัฒนาและความท้าทายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” จัดโดย คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  สำนักข่าว The Leader Asia  หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ และเครือข่ายพันธมิตร ณ ห้องประชุมสมภพ โหตระกิตย์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  โดยนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานเสวนาในหัวข้อAPEC2022 เวทีใหญ่ที่เมืองไทย แล้วโลกจะได้อะไร

นายเชิดชายกล่าวว่า การประชุมAPEC 2022 ถือเป็นการบริหารจัดการยากที่สุด นับตั้งแต่มีการจัดการประชุมเอเปคกันมา  เนื่องจากเป็นการประชุมหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยไฮไลท์การประชุมที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพคือธีม Open-Connect-Balance

 “สิ่งที่ไทยจะต้องรับบทหนักคือจะทำอย่างไรที่จะให้เอเชีย-แปซิฟิกสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้เร็วที่สุด คำว่าOpenเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากเปิดประเทศแล้ว ทำอย่างไรให้เกิดการ Connect ระดับภูมิภาคอีกครั้ง สุดท้ายคือ Balance ความสมดุลระหว่างการค้า การลงทุน และการรักษาความยั่งยืนของสภาพภูมิอากาศ”นายเชิดชายกล่าวและกล่าวด้วยว่า  จะมีการนำเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังจากพูดกันมาตั้งแต่ปี2006 แต่จนบัดนี้ ก็ยังไม่สามารถทำได้ด้วยปัญหาต่างๆในแต่ละช่วงเวลา ในเมื่อโลกผ่านวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว เหมือนการกลับมาเริ่มต้น FTA-AP กันใหม่ ประเด็นที่จะคุย เช่น Digitalization, Climate Change หรือ จริยธรรมในการทำธุรกิจ

“ไทยจะใช้โอกาสนี้ทำให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเด็นที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังโควิด-19 การเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจไทยกับภาคธุรกิจเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ และการแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อต่างชาติเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุน โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกลไก 3 เรื่องหลัก คือ 1.การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 2.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งและการท่องเที่ยว และ 3.การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวปิดท้าย 

หลังจากนั้นได้เข้าสู่การเสวนาจากวิทยากรผู้เชียวชาญด้านต่างๆ ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นบนเวทีเสวนา “การพัฒนาและความท้าทายในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก” โดยมีวิทยากรรับเชิญ ได้แก่  รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นายพิริยะ เข็มพล อดีตเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน  ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายชิบ จิตนิยม บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เนชั่น ทีวี  ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  โดยมีผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์   และ นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการ The Leader Asia ร่วมดำเนินรายการ

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่าโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวนับแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย  แต่บัดนี้มีนักวิชาการต่างประเทศบางคนระบุว่าเป็น The End of American World Order  สหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ทีสุดในโลก  คุมและจัดระเบียบโลกวันนี้เริ่มถดถอย หากเศรษฐกิจโลกเท่ากับ 100%  สหรัฐฯมีขนาด 15.9%  จีนมีขนาดเศรษฐกิจ 18.7% และจีนยังมีความฝันว่าในปี 2049 จะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ  วิธีคิดของสองประเทศนี้แตกต่างกัน  สหรัฐฯอยากเป็นนักปกครอง  แต่จีนอยากเป็นนักธุรกิจเพราะรู้ว่าต้นทุนในการปกครองโลกนั้นสูง

ในภาวะที่มหาอำนาจเดิมกำลังเป็นขาลงและมหาอำนาจใหม่กำลังเป็นขาขึ้นจึงเกิดความขัดแย้งกัน  สหรัฐฯที่เริ่มสั่นคลอนจึงดึงเอายุโรปซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก 15.2% ที่มีค่านิยมเดียวกันมาเป็นพันธมิตรในการสกัดกั้นจีน

ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้เล่นอื่นๆเช่น ญี่ปุ่นมีขนาด 4% ซึ่งมีบทบาทสำคัญในโลก  และกลุ่มที่อยู่นอกเอเปคที่กำลังได้รับความสำคัญคือ เอเชียใต้และอ่าวเบงกอล (อินเดีย เนปาล ภูฏาน  ศรีลังกา บังคลาเทศ ปากีสถาน อาฟกานิสถาน) รวมประชากร 1,800 ล้านคน ครองส่วนแบ่งเศรษฐกิจโลกประมาณ 9% และตลอด 20 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตประมาณ 6-8% อย่างต่อเนื่อง

ส่วนไทยเรามีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 23ของโลก มีอำนาจต่อรองน้อยมากจึงต้องเล่นบทบาทนำในเวทีอาเซียน  เพื่อให้มีอำนาจต่อรองของประชากร 650 ล้านคน  ขนาดเศรษฐกิจ 7% ของโลกภาพเหล่านี้คือผู้เล่นหลักในเวทีเศรษฐกิจโลก

ส่วนที่มีการปะทะกันคือสงครามเศรษฐกิจ  แต่สหรัฐฯ-จีน-ยุโรปต่างยังมีการค้าขายกันและยังคงต้องพึ่งพากัน  กลุ่มประเทศอื่น อย่างอาเซียนจึงได้ประโยชน์ในการวางตัวเป็น “โซ่ข้อกลาง”ในสงครามการค้า  เป็นตัวกลางในการผลิตและขนส่งสินค้าระหว่างกลุ่มอำนาจใหญ่

เมื่อจีนพุ่งทะยานมากขึ้น จึงทำให้สหรัฐฯจึงวางยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก เพื่อปิดล้อมจีนในฐานะภัยของความมั่นคง  เช่นเดียวกับที่มองรัสเซียคือภัยความมั่นคงและยั่วยุจนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ขณะที่นายชิบ จิตนิยม บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เนชั่นทีวี กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นครัวของโลกนั้น ไม่น่าจะใช่อีกต่อไป เพราะปัจจุบันประเทศจีนมีการลงทุนด้านวิจัยอาหารและเมล็ดพันธุ์ ทำให้แก้ปัญหาความอดอยากของประเทศไปได้ และส่งผลให้ประชากรกว่า 1,400 ล้านคน มีการเป็นอยู่แบบ เหลือกิน เหลือใช้และเหลือเฟือ จนทางการจีนเคยมีการรณรงค์ให้คนจีนกินข้าวทุกเม็ดให้หมดจาน รวมทั้งยังมีศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการเกษตร 3-4 ศูนย์ ใช้พื้นที่ 126,000 ไร่

“โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI ของจีนสะท้อน 3 อย่าง คือ 1.กระดูกสันหลัง เช่น ด้านเกษตรกรรม 2.ระบบเส้นเลือด เช่น น้ำมัน เชื้อเพลิง และ ทรัพยากร และ3.ระบบเส้นประสาท เช่น บรอดแบรนด์  เทคโนโลยีต่างๆ และ บิ๊ก ดาต้า (Big Data) ซึ่งทางแมคคินซีย์(McKinsy Global Institute : หน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจและธุรกิจของแมคคินซีย์) บอกว่า หากBRIสำเร็จจะทำให้ 80% ของเศรษฐกิจโลกได้รับการกระตุ้น” นายชิบกล่าว