In Bangkok
กทม.เตรียมแนวทางดูแลผู้ป่วยบัตรทอง 9รพ.เอกชนสปสช.ยกเลิกสัญญา1ต.ค.นี้

กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์ กทม.เตรียมพร้อมแนวทางดูแลผู้ป่วยบัตรทอง 9 รพ.เอกชนที่ สปสช.ยกเลิกสัญญาบริการ 1 ต.ค.นี้
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุขโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน 9 แห่ง ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป นั้น สปสช.เขต 13 กรุงเทพมหานคร เร่งบริหารจัดการและพัฒนาระบบบริการต่าง ๆ เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีหน่วยบริการปฐมภูมิโมเดล 5 ที่เป็นรูปแบบบริการใหม่ภายใต้ระบบบัตรทองเปิดให้ผู้ใช้สิทธิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ทุกแห่ง โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่ายบริการ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นและคลินิกเวชกรรมเป็นลูกข่าย ส่วนค่าบริการ สปสช.ได้ปรับให้เป็นการเบิกจ่ายตามรายการบริการ (fee schedule) ที่ครอบคลุมกว่า 4,000 รายการ ทั้งด้านรักษาพยายาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ขณะนี้ได้เริ่มให้บริการแล้ว
สำหรับผู้ป่วยปฐมภูมิที่ต้องการหน่วยบริการแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 200,000 คน กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมการรองรับโดยจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้กระจายอย่างเหมาะสมและหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนใหม่จะยังไม่ได้รับการจัดสรรจนกว่าประชาชนจะไปลงที่ทะเบียนที่หน่วยบริการนั้น โดยมีคลินิกอบอุ่นในพื้นที่หน่วยบริการเดิมที่ถูกยกเลิกและศูนย์บริการสาธารณสุขรองรับ รวมทั้งจัดให้มีบริการรูปแบบใหม่และบริการเฉพาะรองรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Tele-medicine, Mobile units, ร้านยา ฯลฯ) การจ่ายชดเชยตามรูปแบบโมเดล 5 “OP anywhere คือ ตรวจผู้ป่วยนอกที่ไหนก็ได้เดี๋ยว สปสช.ตามจ่าย” ตลอดจนการเตรียมข้อมูลผู้ป่วยเรื้อรัง จากทั้ง ในฐานข้อมูลและจากหน่วยบริการ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะและประชาสัมพันธ์รับหน่วยฯ เพิ่มให้ตรงกับความต้องการของประชาชน และชี้แจงหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเบิกจ่าย ส่วนกรณีหน่วยรับส่งต่อมีประชาชนที่ต้องมีแผนรองรับประมาณ 690,000 คน ได้จัดเครือข่ายรับส่งต่อเป็นกลุ่มโซน กรณีฉุกเฉินและมีเหตุสมควรให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ (IP Anywhere) โดยประสานโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่ง สปสช.ได้จัดหาหน่วยบริการรับส่งต่อเพิ่มและประสานกับ รพ.ในระบบเพื่อจัดระบบ E-Refer และ Bed management ทั้งนี้ ผู้บริหาร กทม.มีนโยบายให้ รพ.ในสังกัด กทม.ช่วย สปสช.ให้มากที่สุด โดยมี รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ปริมณฑล สนับสนุนความช่วยเหลือและ สปสช. อยู่ระหว่างประสาน รพ.เอกชน และ รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ด้วยเช่นกัน
ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ใช้สิทธิการรักษากับ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง กรณีไม่ใช่ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องระหว่างนี้ก่อนถึงวันที่ 1 ต.ค.65 ขอให้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแห่งใหม่ในเขตพื้นที่ที่ตนพักอาศัยได้ทาง LINE : สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือแอปพลิเคชัน สปสช. หากไม่มีหน่วยบริการในพื้นที่ให้เลือกลงทะเบียน สปสช.อยู่ระหว่างจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติม เพื่อให้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ/รับส่งต่อใหม่ โดยหากเจ็บป่วยเข้ารักษาได้ทุกหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/hospital หรือเว็บไซต์ Nostra map https://map.nostramap.com/NostraMap/ หรือแอปพลิเคชัน Nostra Map ส่วนผู้ป่วยที่ยังรักษาต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีนัดติดตามอาการ ผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ฯลฯ (ยกเว้นผู้ป่วยไตที่ฟอกไตกับ รพ.ทั้ง 9 แห่ง ยังคงไปฟอกไตได้ตามนัดเหมือนเดิม เนื่องจากไม่ได้ยกเลิกสัญญาการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม) ให้ติดต่อขอรับเวชระเบียนได้ที่โรงพยาบาลดังกล่าว ทั้งนี้ สปสช.ได้ทำหนังสือถึง รพ.ทั้ง 9 แห่ง เพื่อขอข้อมูลผู้ป่วยพร้อมประวัติการรักษา หลังจากนี้ สปสช.จะประสานผู้ป่วยโดยตรงและจัดหาหน่วยบริการแห่งใหม่เพื่อดูแลต่อไป หากยังไม่ได้รับการติดต่อประสานงานจาก สปสช. หรือไม่ได้รับความสะดวกจากการติดต่อขอรับเวชระเบียน ขอให้ติดต่อที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามแนวทางต่อไป และกรณีผู้ป่วยใน (ที่ยังนอนอยู่ รพ.) สามารถรักษาต่อไปได้จนกว่าจะปลอดภัย