In News
โชว์ยอด9เดือนปิดแล้ว4,735ยูอาร์แอล ดีอีเอสเผยเวบฯหมิ่นสถานบันมากที่สุด
กรุงเทพฯ-ดีอีเอส โชว์ยอด 9 เดือนปิดแล้ว 4,735 ยูอาร์แอล เผยเว็บหมิ่นสถาบัน 1,816 ยูอาร์แอล ขัดต่อศีลธรรมอันดี 1,119 ยูอาร์แอล พนันออนไลน์ 1,507 ยูอาร์แอล ลามกอนาจาร 218 ยูอาร์แอล บุหรี่ไฟฟ้า 58 ยูอาร์แอล และสลากกินแบ่งเกินราคา 17 ยูอาร์แอล
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ระยะเวลาประมาณ 9 เดือนแรกของปี 65 กระทรวงฯ ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายตามคำสั่งศาล 183 คำสั่ง รวมจำนวนที่ปิดแล้ว 4,735 ยูอาร์แอล (ณ วันที่ 20 ก.ย. 65)
โดยครอบคลุม 6 ประเภทคดี ตามลำดับดังนี้ เว็บหมิ่นสถาบัน 1,816 ยูอาร์แอล ขัดต่อศีลธรรมอันดี 1,119 ยูอาร์แอล พนันออนไลน์ 1,507 ยูอาร์แอล ลามกอนาจาร 218 ยูอาร์แอล บุหรี่ไฟฟ้า 58 ยูอาร์แอล และสลากกินแบ่งเกินราคา 17 ยูอาร์แอล
ขณะที่ ในส่วนของการดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางออนไลน์ เมื่อเร็วๆ นี้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญาทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ได้นำเสนอรายงานสถิติผลการจับกุมในภาพรวมตั้งแต่จัดตั้งหน่วยงาน (22 ธ.ค.63 - 31 ส.ค.65) ได้มีการจับกุมในคดีนโยบายที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน รวม2,330 คดี จำนวนผู้ต้องหาทั้งสิ้น 2,981 คน
แบ่งเป็น 1.การพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ 670 คดี ผู้ต้องหา 1,171 คน 2.หลอกลวงออนไลน์ด้านการเงิน579 คดี ผู้ต้องหา 673 คน 3.ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เผยแพร่ข่าวปลอม เข้าถึงระบบโดยมิชอบ 483 คดี ผู้ต้องหา 483 คน 4.หลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ ขายสินค้าผิดกฎหมาย 445 คดี ผู้ต้องหา 466 คน และ 5.ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก สตรี 153 คดี ผู้ต้องหา 188 คน
ปัจจุบัน รัฐบาลยังเร่งรัดในการออกกฎหมาย ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น บัญชีม้า เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เพื่อยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในประเทศไทย ให้สอดคล้องมาตรฐานสากล โดยจะครอบคลุมถึงความผิดผู้เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า รวมถึงพฤติการณ์ใดๆ ที่เป็นการเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้มีบัญชีม้านั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย และการโฆษณาซื้อขายบัญชีด้วย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา