EDU Research & ESG
นิติฯUTCCผนึก Strait Interactive เปิด 'DPO Hands-on Workshop'
กรุงเทพฯ-มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสถาบัน Straits Interactive Pte. Ltd. สถาบันชั้นนำด้านกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากประเทศสิงคโปร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อส่งมอบโปรแกรมการปกป้องข้อมูลในประเทศไทย พร้อมเปิด"การฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" (Data Protection Officer: Hands on workshop) ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2565 มุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่ผู้ที่มีความต้องการก้าวสู่วิชาชีพเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ และการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองข้อมูลภายในองค์กร พร้อมนำร่องโอกาสสู่การรับรองวิชาชีพ DPO ในระดับนานาชาติ (International Certification)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐริกา แชน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยนั้น ยังพบว่าภาคประชาชนตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก ยังขาดความเข้าใจและองค์ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act : PDPA) หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และยังเป็นความรู้ที่อยู่ในขอบข่ายบุคคลค่อนข้างจำกัด เฉพาะบุคคลในวิชาชีพ Data Protection Officer (DPO) วิชาชีพด้านกฎหมายและองค์กรขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรที่พร้อมต่อการเข้าถึงความรู้ ในขณะที่คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เรามีบทบาทสำคัญซึ่งได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานและองค์กรหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนในการเป็นที่ปรึกษาและการวิจัยด้านกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยประสบการณ์ดังกล่าวที่สะท้อนถึงศักยภาพด้านองค์ความรู้ เราจึงร่วมมือกับพันธมิตร Straits Interactive ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำ และเป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนจากประเทศสิงคโปร์ด้านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านกฎหมายการคุ้มครองส่วนบุคคล โดยม.หอการค้าไทย เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อรับมอบโปรแกรมการฝึกอบรมจาก Straits Interactive โดย จุดเด่นของหลักสูตรนี้ไม่เพียงแค่ให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังสอนเรื่องการธรรมาภิบาลข้อมูล เพื่อคุ้มครองข้อมูลอันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของพนักงาน ลูกค้า การจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้กฎหมาย PDPA ในกระบวนการทางธุรกิจได้ สู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อองค์กรในด้านการบริหารจัดการข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ในแง่ของการคุ้มครองข้อมูลให้ปลอดภัยจากการล่วงละเมิด เปิดเผย เปลี่ยนแปลง หรือทำลาย ซึ่งนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลที่มีมูลค่าความเสียหายอย่างมหาศาล”
สำหรับหลักสูตร"การฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" (Data Protection Officer: Hands on workshop) เป็นหลักสูตรระยะสั้นซึ่งใช้เวลาในการฝึกอบรมเพียงสามวันเท่านั้น ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยเนื้อหาประกอบด้วย
- พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 (PDPA) และวงจรข้อมูลส่วนบุคคล (information life-cycle)
- การจัดการข้อมูลตามหลักวงจรข้อมูลส่วนบุคคล Collect-Usage-Disclosure-Storage (CUDS)
- การธรรมาภิบาลข้อมูล Data Governance
- การจัดการข้อมูลตามหลัก Governance-Assess-Protect-Sustain-Respond (G-APSR)
- บทบาทและความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการบริหารงานเพื่อลดความเสี่ยงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
- Hands-on exercise เช่น Personal Data Inventory, Business Process Data Flow Mapping, Risk Assessment and Risk Treatment เป็นต้น
คอร์สนี้เหมาะกับใคร
1.องค์กรที่ต้องการเสริมสร้างแนวทางปฏิบัติในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อส่งเสริมความไว้วางใจและความมั่นใจของลูกค้าในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กับองค์กร
2.องค์กรที่ต้องการวางแผนการจัดการระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Management Programme)
3.เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO)
4.ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ แผนก HR, IT, Procurement, Sale & Marketing, Internal Auditor และอื่น
5.ผู้ที่ต้องการมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่จะได้รับตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด
1.DPO in Box ซอฟแวร์บริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล (1 user ใช้ฟรี 3 เดือน สามารถต่ออายุได้)
2.รูปแบบ (Template) การป้องกันข้อมูล และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
3. ข้อแนะนำในการจัดการความเสี่ยงภายใต้ PDPA
4.ประกาศนียบัตรผ่านการฝึกอบรมด้านการคุ้มครองข้อมูล และ GRC จาก OCEG
โดยหลังผ่านการฝึกอบรม ข้อชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่าน มีองค์ความรู้เพียงพอต่อการนำไปประยุกต์ใช้ คือการมีความเข้าใจ PDPA ผ่านมุมมองวงจรข้อมูลส่วนบุคคล สามารถพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล และมีทักษะในการประเมินผลกระทบและบริหารจัดการความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล การร่วมกำหนดนโยบายเพื่อจัดทำมาตรการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่สอดคล้องกับ PDPA มีหลักเกณฑ์การตรวจสอบและทบทวนหลักปฏิบัติต่อข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งสอดคล้องกับ PDPA การตอบสนองต่อสิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และการจัดการภาวะวิกฤตอันเนื่องมาจากความเสียหายจากการถูกล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้
ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตรเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO Proficiency Certificate) จาก OCEG (Open Compliance and Ethics Group) องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกเรื่องการบูรณาการการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือ GRC (Governance, Risk, Compliance)
“สำหรับอาชีพ DPO (Data Protection Officer) ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารจัดการและคุ้มครองความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลใด ๆ ขององค์กร ถือเป็นอาชีพเทรนด์ใหม่ซึ่งมีผู้ประกอบอาชีพและมีความรู้โดยตรงไม่มากในประเทศไทย และยังไม่มีข้อบังคับทางกฎหมาย เช่นการบังคับสอบใบอนุญาตเพื่อประกอบวิชาชีพ จึงเป็นตำแหน่งที่องค์กรมักแต่งตั้งเจ้าหน้าซึ่งมีหน้าที่ใกล้ชิดหรือมีความเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล อาทิ ฝ่ายกฎหมาย, ฝ่าย Information Technology (IT), ฝ่ายทรัพยากรบุคคล, ฝ่ายจัดการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของหลักสูตรฯ จะเป็นเสมือนใบเบิกทางสู่วิชาชีพที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมากในอนาคต เมื่อกฎหมาย PDPA มีความเข้มงวด และภาคธุรกิจหรือหน่วยงานต่าง ๆ มีความตื่นตัวที่จะบริหารจัดการข้อมูลอย่างรัดกุม” ผศ.ดร.ณัฐริกา กล่าวทิ้งท้าย
หลักสูตร"การฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล"(Data Protection Officer: Hands on workshop) เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ โดยมีค่าธรรมเนียมการฝึกอบรม 30,000 บาท สิทธิพิเศษ Early Bird Booking สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนสมัครหลักสูตรภายใน 19 ตุลาคม 2565 รับทันทีส่วนลดค่าธรรมเนียมฝึกอบรม 10 % (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่โครงการกำหนด) ลงทะเบียนได้ที่ https://apar.utcc.ac.th/course/dpo-hands-on-workshop/ หรือสอบถามรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ Line : @apar-utcc E-Mail : apar@utcc.ac.th Facebook : สถาบันเอพาร์/คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือโทร 02-697-6805