EDU Research & ESG

วช.ลงนามความร่วมมือส.สิ่งแวดล้อมไทย รุกพัฒนาองค์ความรู้วิจัยสิ่งแวดล้อม



กรุงเทพฯ-วช. ลงนามความร่วมมือกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกันผลักดัน การพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 28 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ลงนามในบันทึกข้อตกลง “การพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้กล่าวต้อนรับฯ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินโครงการฯ และร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่เชื่อมโยงกับทิศทางของประชาคมโลก และมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการเกณฑ์การฝึกอบรม ทั้ง 6 หลักสูตร ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมโดย ดำเนินโครงการ “การพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้าใจทิศทางการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรมด้าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่เชื่อมโยงกับทิศทางของประชาคมโลก รวมถึงเข้าใจถึงทิศทางการพัฒนาและการวิจัยว่าจะมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนประเด็นสิ่งแวดล้อม จากที่ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา รายงานจะเห็นได้ว่ามีนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการทั้ง  6 หลักสูตร ซึ่งหลักสูตรทั้งหมดเป็นหลักสูตรที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยพัฒนาร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ในแต่ละหลักสูตร เพื่อทำให้นักวิจัยที่ผ่านเข้าร่วมกิจกรรมได้สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ลักษณะบูรณาการ และได้ทราบสภาพปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายและแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับที่เป็นกระแสโลก ระดับนโยบายของประเทศ ตลอดจนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อออกแบบงานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ วช. ได้มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทั้ง  6 หลักสูตร และร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ระหว่าง วช. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับนักวิจัยที่ผ่านการฝึกอบรมภายใต้โครงการดังกล่าวซึ่งถือเป็นรุ่นแรกของโครงการ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำผลงานวิจัยสู่การบูรณาการในเชิงบริบทของพื้นที่ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศได้อย่าง​ยั่งยืน​ต่อไป

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ตามที่ วช. ได้มอบหมายให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งมีภารกิจหลักในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่สาธารณชน ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้กับนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจทิศทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เชื่อมโยงกับทิศทางของประชาคมโลก รวมถึงความเข้าใจในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการวิจัยไปสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ (Agenda-Based) หรือในลักษณะพื้นที่ (Area Based) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวประกอบด้วยหลักสูตรย่อย 6 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม 3) การวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4)  การวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 5) การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และ 6) การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้สนใจสมัครอบรมกว่า 2,300 คน และมีผู้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้ฝึกอบรมกว่า 1,000 คน  และมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทั้ง 6 หลักสูตรที่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดรวม 523 คน และในวันนี้ วช. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้จัดกิจกรรมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านเกณฑ์การฝึกอบรม และร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ระหว่าง วช. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในรุ่นต่อไปในอนาคต

โอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัย และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านเกณฑ์การฝึกอบรมทั้ง 6 หลักสูตร ทั้งนี้มีผู้เข้ารับประกาศนียบัตร 80 คน จากจำนวนทั้งสิ้น 523 คน  

ทั้งนี้  ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประเด็นสิ่งแวดล้อมและงานวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2507) โดย นางสาวนุชจรี วงษ์สันต์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมีการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทนักวิจัยและผลงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานวิจัยและนวัตกรรม “ด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงิน” ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. รองศาสตราจารย์ ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ วช. ดร.ขวัญฤดี โชติชนาวีวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม  รองศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานวิจัยและนวัตกรรม “ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานวิจัยและนวัตกรรม “ด้านมลพิษภาคอุตสาหกรรม” และ นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วช.ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้จะนำไปสู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในมิติด้านนโยบาย วิชาการ สังคม ชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในเชิงของภาคธุรกิจ หรือเชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง​กับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมในระดับต่าง ๆ เกิดการสร้างเครือข่ายนักวิจัยงานวิจัยเชิงบูรณาการที่ได้รับการยอมรับในระดับเชิงพื้นที่สู่ระดับสากล