In News
รัฐบาลร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านเวทีระดับโลกWCCEที่บาหลี
กรุงเทพฯ-รัฐบาลร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านเวทีระดับโลก WCCE ที่บาหลี ครม.เห็นชอบร่างเอกสารวาระบาหลี 2022: แผนที่นำทางระดับโลกเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Bali Agenda 2022: A Global Roadmap for Creative Economy) ที่จะมีการรับรองร่างเอกสารในการประชุม World Conference on Creative Economy (WCCE) ครั้งที่ 3 ระหว่าง 5 – 7 ตุลาคม 2565 ณ เมืองบาหลี โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารวาระบาหลี 2022: แผนที่นำทางระดับโลกเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Bali Agenda 2022: A Global Roadmap for Creative Economy) ที่จะมีการรับรองร่างเอกสารในการประชุม World Conference on Creative Economy (WCCE) ครั้งที่ 3 ระหว่าง 5 – 7 ตุลาคม 2565 ณ เมืองบาหลี โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ ส่วนประเทศไทยจะเข้าร่วมประชุมและรับรองผ่านระบบการประชุมทางไกล
การประชุม WCCE ครั้งที่ 3 นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การสร้างสรรค์อย่างครอบคลุม: การฟื้นฟูระดับโลก” (Inclusively Creative : A Global Recovery) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง 5 ฝ่าย ได้แก่ 1)รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายหรือองค์การระหว่างประเทศ 2)นักวิชาการ 3)องค์กรเอกชน 4)ชุมชน และ 5) สื่อ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนในระดับสากล รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ฟื้นฟูโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 สำหรับร่างเอกสารวาระบาหลี 2022 ที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ มีสาระสำคัญ อาทิ
1.การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ปรากฏในการประชุมระดับ นานาชาติที่ผ่านมา เช่น การประชุม Urban 20 Riyadh 2020 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ครอบคลุมและอนาคตของการทำงาน”
2.การก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์โลกและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งมีการผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางระดับโลกในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
3.การเน้นย้ำศักยภาพเชิงกลยุทธ์ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก
4.แนวทางการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 15 ประการ อาทิ 1)การสร้างระบบนิเวศเพื่อให้มั่นใจว่าภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความเท่าเทียมสำหรับทุกคน 2)ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3)ส่งเสริมการวิจัยและเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงความคิดสร้างสรรค์ 4)การสนับสนุนด้านงบประมาณ สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและสินค้าสร้างสรรค์ 5)ให้มีนโยบายสนับสนุนผู้ที่มีบทบาทในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 6)ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางนี้
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้กระทรวงวัฒนธรรมประสานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม World Conference on Creative Economy ครั้งที่ 3 มาต่อยอดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย