In News
'อนุทินควงศักดิ์สยาม'บุกเยี่ยมสปป.ลาว หารือเชื่อมโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง
รองนายกฯ อนุทิน และ รมว.คมนาคม นำทีมไทยแลนด์ถกความร่วมมือ สปป.ลาว ยืนยันความมุ่งมั่นประเทศไทยเชื่อมโยงด้านการคมนาคมทั้งทางรถไฟ บก เรือ อากาศ เพื่อประโยชน์สูงสุดกระชับสัมพันธ์ 2 ประเทศแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (6 ต.ค. 65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้นำทีมไทยแลนด์ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย ไปร่วมประชุม ร่วมกับนายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่ง และคณะผู้แทน สปป.ลาว เกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย –เวียงจันทน์ ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมความสำเร็จของโครงการรถไฟลาว-จีน เชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิง ประเทศจีน พร้อมยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเชื่อมโยงด้านคมนาคมกับ สปป.ลาว ในทุกๆด้าน ทั้งทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ ทางบก เรือ อากาศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง ทางเศรษฐกิจร่วมกัน รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก โดยรองนายกรัฐมนตรีได้แสดงความมั่นใจว่าการที่ตอนนี้โควิด19 ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงแล้วทั้งไทยและ สปป.ลาวมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนทั้ง 2 ประเทศกลับสู่ภาวะปกติเร็วๆนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือกันถึงแนวทางการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย –สปป.ลาว – จีน โดยกรมขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคมของไทยได้รายงานความคืบหน้าและกำหนดการแล้วเสร็จของโครงการต่างๆ ของไทย ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569 , ระยะที่2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) คาดว่าเปิดให้บริการ ปี 2572, โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น –หนองคาย ระยะทาง 167 กม. จะนำเสนอ ครม. ภายในปี 2565
การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าที่สถานีหนองคายและสถานีนาทา อยู่ระหว่างศึกษาการให้เอกชนร่วมลงทุนจะแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งในที่ประชุมได้หารือกันถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาจุดตรวจร่วม (Common Control Area : CCA) ที่ท่านาแล้งในฝั่ง สปป.ลาว สถานีหนองคายและสถานีนาทา ที่ฝั่งไทย รวมถึงการบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่1 ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยในส่วนนี้ฝ่ายไทยได้ สอบถาม ถึงความเป็นไปได้ในการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งเดิมหลังเวลา 22.00 น. ซึ่งฝ่าย สปป.ลาว เห็นพ้องด้วยและให้หน่วยงานเกี่ยวข้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงแนวทางการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่1 ประมาณ 30 เมตร โดยได้ข้อสรุปร่วมกันตามที่ฝ่ายไทยเสนอคือ สะพานแห่งใหม่นี้จะสามารถรองรับทั้งรถไฟทางขนาดมาตรฐาน ทางขนาด 1 เมตร และรถยนต์ โดยฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการออกแบบและมีคณะทำงานร่วมกันหารือเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยจะให้การสนับสนุน สปป.ลาว ในประเด็นการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในด้านด้านถนน ทางรถไฟ โลจิสติกส์ และการบินพลเรือน จากปัจจุบันที่ไทยได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่ทาง สปป.ลาวในหลากหลายสาขาทั้งด้านคมนาคม สาธารณสุขและด้านอื่นๆ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภายหลังการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เดินทางไปศึกษาดูการดำเนินงานและรับฟังข้อมูลการดำเนินงานของโครงการเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ค (Vientiane Logistics Park : VLP)ซึ่งเป็นโครงการโลจิสติกส์ครบวงจรของ สปป.ลาว พื้นที่รวม 2,387.5 ไร่ ตั้งอยู่ที่ในเมืองหาดซางฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร โดยได้รับฟังข้อมูลในส่วนต่างๆ รวมถึงแนวทางการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับประเทศไทย
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ต.ค. 65 จะมีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางรถไฟของไทยขนส่งสินค้าประเภทพลาสติก จำนวน 25 โบกี้ บรรทุกคอนเทนเนอร์จากประเทศไทยข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่1 ไปยังเวียงจันทน์โลจิสติกส์ปาร์ค เพื่อขนส่งต่อเนื่องโดยใช้เส้นทางลาว-จีน โดยมีปลายทางที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นการขนส่งส่งสินค้าล็อตใหญ่ผ่านเส้นทางและโครงการที่ทั้งไทยและ สปป.ลาวได้มีการพัฒนาร่วมกัน