In News

รัฐฯส่งเสริมรถยนต์อีวี.ยอดพุ่ง2.8แสนคัน คาดยอดทั้งปีขายกว่า6หมื่นคัน



กรุงเทพฯ-นโยบายรัฐส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าทำยอดแตะ 2.8 แสนคัน คาดทั้งปีขายกว่า6 หมื่นคัน คปภ.เร่งแก้ปัญหาเบี้ยประกันภัยแพง สร้างความมั่นใจผู้ซื้อ

วันนี้ 8 ต.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV)ในประเทศไทยซึ่งประชาชนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี ซึ่งปัจจุบันนี้ มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 2.84 แสนคัน แบ่งเป็น รถยนต์ไฮบริด 2.28 แสนคัน รถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน 3.7 หมื่นคัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอร์รี่ 1.8 หมื่นคัน และมีการประเมินจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า สิ้นปี 2565 ยอดขายรวม 6.3 หมื่นคัน แบ่งเป็น รถยนต์ไฮบริด 4.2 หมื่นคัน รถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน 1.1 หมื่นคัน และ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอร์รี่ 1 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนลังเลในการตัดสินใจซื้อรถEV คือ เบี้ยประกัน ที่พบว่า เบี้ยประกันภัยของรถยนต์ไฟฟ้าแพงกว่าเบี้ยประกันภัยของรถยนต์ทั่วไปอย่างมาก ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย พัฒนา ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ได้เชิญบริษัทประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายบริษัท และผู้แทนจากคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทยหลายครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในประเด็นหลัก ๆ คือ 1) บริษัทประกันกำหนดเบี้ยประกันภัยรถ EV แต่ละสัญชาติไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบริษัทที่รับประกันภัยรถยนต์กลุ่มนี้ 2) การรับประกันภัยรถ EV มีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับรถสันดาป ในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 800:1 ต้นทุนในการเกิดเหตุของรถEVสูงกว่ารถสันดาปค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า การแก้ไขปัญหาเบี้ยประกันภัย ระยะสั้นและเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย จะต้องมีการดำเนินการคือ 
1)การจัดทำเอกสารแนบท้าย กำหนดทางเลือกเฉพาะกรณีแบตเตอรี่ได้รับความเสียหายและต้องมีการเปลี่ยนแบบยกชุดเท่านั้น (กรณีใช้วิธีการซ่อม บริษัทรับผิดชอบทั้งหมด) โดยให้มีทางเลือก 3 กรณี ให้ผู้เอาประกันภัยเลือกข้อใดข้อหนึ่ง และบริษัทจะให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย 10-25% (ตามประสบการณ์ของแต่ละบริษัท) ดังนี้
   กรณีที่ 1 จำกัดจำนวนเงินความคุ้มครองของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทจะให้ความคุ้มครองไม่ต่ำไปกว่า 50% ของมูลค่าแบตเตอรี่ หรือ
   กรณีที่ 2 กำหนดความรับผิดส่วนแรก โดยจะระบุไม่เกิน 15% ของมูลค่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ
   กรณีที่ 3 Copayment กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายร่วมไม่เกิน 15%

2)ที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันว่าในช่วงนี้บริษัทประกันภัยรถ EV จะไม่มีการขึ้นเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมโดยบริษัทจะคงราคานี้ไว้ไปก่อน

3)เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะร่วมกันเก็บรวบรวมสถิติในการรับประกันภัยรถ EV และศึกษารูปแบบการประกันภัยเพื่อจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถ EV เพื่อให้ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัย ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยใหม่ที่บริษัทประกันภัยในประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ โดยกำหนดแผนดำเนินการในปี 2566

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ทางเลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยเร่งพิจารณาร่างเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถ EV ร่วมกับสายกฎหมายและคดีเพื่อเสนอต่อนายทะเบียนพิจารณาให้ความเห็นชอบตามกระบวนการและขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาในระยะสั้นได้ ส่วนอนาคต ทางคปภ. จะพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ EV โดยเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถ EV เพื่อให้ความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัยสอดคล้องกับความเสี่ยงและต้นทุนในการรับประกันภัยอันจะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้