EDU Research & ESG

ศิลปกรรมDPUร่วมอนุรักษ์ผ้าไทยยกระดับ ผ้าขาวม้ารับเทรนด์แฟชั่นช่วยชุมชน



กรุงเทพฯ-นักศึกษาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ศิลปกรรมศาสตร์ มธบ.ร่วมอนุรักษ์ผ้าไทย ออกแบบ ผ้าขาวม้าไทยใน 3 ชุมชน ภายใต้โครงการ Creative Young Designer สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์-สินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ สอดรับทุกเทรนด์แฟชั่น สร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน

นายปรัชญา พิระตระกูล หัวหน้าวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวถึงโครงการ Creative Young Designer ซึ่งได้นำเสนอในงาน Sustainability Expo 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ย. - 2 ต.ค. 2565 ว่า ตามที่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี เพื่อพัฒนาสินค้าชุมชน โดยมุ่งเน้นเรื่องของผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นเสมือนวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานนั้น ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดีไซน์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าในแต่ละชุมชนให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่มช่วงอายุ ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรุ่นเก่า

นายปรัชญา กล่าวต่อว่าโครงการ Creative Young Designer มีการดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ซึ่งก่อนจะเข้าร่วมโครงการนั้น ทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ มธบ. ได้มีโครงการให้นักศึกษาลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมออกแบบ ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าในชุมชนอยู่แล้ว อย่าง การออกแบบผ้าขาวม้าของชุมชนที่ จ.หนองบัวลำภู ทั้งนี้ เมื่อทางไทยเบฟฯ เข้ามาสนับสนุนโครงการดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมตั้งแต่ปีแรก โดยได้พัฒนาออกแบบผ้าขาวม้าของชุมชนบ้านน้ำมอญแจ้ซ้อน จ.ลำปาง ซึ่งจะเป็นผ้าขาวม้าย้อมมือสีธรรมชาติ นักศึกษาก็ได้ออกแบบเป็นชุดเสื้อผ้าสไตล์มินิมอล เรียบแต่สวยเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่

 ต่อมาปีที่ 2 ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าของชุมชนหาดเสี้ยว จ.สุโขทัย ผ้าขาวม้าจะเป็นลักษณะสีดำ ขาว และขณะนั้นมีสโมสรสุโขทัยเข้าร่วมสนับสนุน นักศึกษาจึงออกแบบจากผ้าขาวม้าและผสมผสานกับผ้าทอเส้นด้ายรีไซเคิลจากเสื้อผ้าเก่าของบริษัทเอส ซี แกรนด์ กลายเป็นชุดสปอร์ตตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่สนใจรักสุขภาพ หรือเทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าสปอร์ต และสอดรับกับความต้องการของผู้สนับสนุนในการนำชุดกีฬาจากผ้าขาวม้าไปสวมใส่แข่งขัน ขณะที่ปีล่าสุด ชุมชนนาหมื่นศรี จ.ตรัง ผ้าขาวม้าจะสีสันฉูดฉาดมาก โดยได้นำไอเดียเสื้อผ้าแนวสตรีท (Street Fashion) ของเด็กรุ่นใหม่ มาปรับใช้โดยมีการตัดต่อที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลายกลุ่ม โดยภายในงาน Sustainability Expo 2022 ได้มีการลงนามความร่วมมือโครงการ Creative Young Designers ปี 2565 และมีพิธีส่งมอบผลงานแฟชั่นไลฟ์สไตล์ให้กับชุมชน เมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา

“การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ชุมชน เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งทำให้พวกเขาได้เห็นว่าผ้าไทย และชุมชนมีการผลิตวัตถุดิบอย่างไรบ้าง และเห็นความสำคัญของผ้าไทย เพราะต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่อาจจะมีมุมมองแบบตะวันตก การที่ไทยเบฟร่วมสนับสนุน และเปิดโอกาสให้เด็กเข้าร่วม ถือเป็นการสร้างสรรค์เสื้อผ้าไทย วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มของนักศึกษาเอง และคนทั่วโลก เพราะเมื่อเกิดการสร้างสรรค์ผ้าขาวม้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ตามเทรนด์ใหม่ๆ นอกจากจะทำให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชน สร้างความยั่งยืนแก่นักศึกษา เกิดไอเดียนำผ้าเก่ามาใช้ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ยังทำให้คนไทยและคนทั่วโลกรู้จักผ้าไทยและรู้จักการอนุรักษ์สวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น” นายปรัชญา กล่าว

นายปรัชญา กล่าวต่อว่า นักศึกษารุ่นใหม่เขามีไอเดีย เข้าถึงเทรนด์ต่างๆ ได้มากมาย ดังนั้น การเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้เรียนรู้ และได้นำความรู้ไปใช้ได้จริงสำคัญอย่างมาก การเรียนของวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ได้เน้นให้นักศึกษาเรียนรู้จากการลงมือทำจริงๆ จากโจทย์ที่มาจากชุมชน หรือผู้สนับสนุนจริงๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทย สินค้าไทยให้เป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ หรือของที่ระลึกที่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าผ่านการใช้ไอเดียสร้างสรรค์ในการสร้างผลงาน

“การที่นักศึกษาได้เห็นชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีศักยภาพอย่างมากในการดูแลผ้าไทย จะเป็นการสร้างความตระหนัก ปลูกฝัง และได้นำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า และบริการ เป็นการเพิ่มรายได้ สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน และเปิดมุมมองให้แก่นักศึกษา ขณะเดียวกันลูกค้า ผู้บริโภคก็จะได้เห็นผ้าไทยในมิติใหม่ๆ ที่สอดรับกับยุคสมัย ใครๆ ก็สามารถใส่หรือใช้ผ้าไทยได้” นายปรัชญา กล่าว

ด้าน น.ส.เกวลี กิตติอุดมพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธบ. กล่าวว่า ตนเองได้มีโอกาสร่วมออกแบบในโครงการ Creative Young Designer ในส่วนสินค้าไลฟ์สไตล์ของชุมชนนาหมื่นศรี จ.ตรัง ซึ่งเป็นการนำผ้าขาวม้าที่มีสีสันฉูดฉาดมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หมอนอิง กระเป๋า พวงกุญแจ ของที่ระลึกต่าง ๆ ที่นอกจากจะออกแบบให้ทันสมัย เหมาะกับคนรุ่นใหม่แล้วยังให้คุณค่าเดิมของคนในชุมชนที่ยังรักษาวิถีชีวิตทอผ้าขาวม้า โดยเพิ่มเติมรูปแบบใหม่และให้มีสีสัน ลวดลายถูกใจผู้บริโภค

“ก่อนจะลงพื้นที่ชุมชน ได้มีการจัดทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความต้องการใช้ผ้าขาวม้า หรือผ้าไทย พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มีความต้องการใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าไทย แต่มีความกังวลเรื่องของลวดลาย หรือสีสัน ดังนั้น เมื่อได้ลงพื้นที่ชุมชนนาหมื่นศรี จ.ตรัง ได้นำไอเดีย เทคนิคการตัดต่อมาใช้ลวดลายเป็นลายริ้ว ใช้สีที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้จึงมีคุณค่าอย่างมาก เพราะได้ความรู้เกี่ยวกับผ้าขาวม้า การทอผ้า วิถีชีวิตของคนในชุมชน และเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่นิยมและร่วมอนุรักษ์ผ้าไทยให้เกิดความยั่งยืน” น.ส.เกวลี กล่าวในตอนท้าย