In News
นายกฯล้อมคอกป้องกันภัยในสถานศึกษา สั่ง'ตรีนุช'ติดตั้งประตูนิรภัยศูนย์เด็กเล็ก
กรุงเทพฯ-"พล.อ.ประยุทธ์" ไม่นิ่งนอนใจ ระดมมาตรการป้องกันภัยสถานศึกษาทุกระดับ มอบ "ตรีนุช" เดินหน้าให้อาชีวะติดตั้ง "ประตู-หน้าต่างนิรภัยศูนย์เด็กเล็ก" สังกัดสพฐ. และกระทรวงมหาดไทย ทั่วประเทศ
วันที่ 10 ตุลาคม 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน ของ พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการหามาตรการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุร้ายภายในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสอนเด็กปฐมวัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ติดตั้งระบบประตูป้องกันภัยให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดและโรงเรียนสอนเด็กปฐมวัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองบุคคลแปลกหน้าเข้า-ออกในพื้นที่ โดยให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะ ในสังกัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประสานกับหน่วยการจัดการศึกษาปฐมวัยในจังหวัด สังกัด สพฐ. เทศบาล องค์กรบริหารส่วนจังหวัด องค์กรบริหารส่วนตำบล และเอกชน สำรวจความต้องการจัดตั้งระบบป้องกันภัย ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยให้สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเมคคาทรอนิกส์ และช่างไฟฟ้า จัดทำและติดตั้งระบบป้องกันภัย
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เบื้องต้น ได้ประสานให้วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องเพื่อใช้ทั่วประเทศ ในการออกแบบทดลองระบบป้องกันภัยให้กับนักเรียนเด็กเล็ก โดยมุ่งหวังเป็น ประตู-หน้าต่างนิรภัยศูนย์เด็กเล็กแบบครบวงจร ทั่งคุณภาพและความแข็งแรงมีระบบเตือนภัยภายใน พร้อมกับมีกล้องตรวจจับพฤติกรรมเสี่ยงและเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที ซึ่งนายธนภัทร แสงจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ได้เร่งดำเนินการออกแบบและจัดหาอุปกรณ์ในการดำเนินการ และคาดว่าต้นแบบจะออกมาให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า
น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ โดยนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมระดมมาตรการเพื่อออกแบบให้สถานศึกษามีความปลอดภัยในทุกระดับ โดยเฉพาะกำลังพิจารณาแนวทางในการติดตั้งสัญญาณ SOS ขอความช่วยเหลือไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเน้นย้ำการซักซ้อมวิธีการเอาตัวรอดจากการเผชิญเหตุร้าย เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนมีทักษะสามารถปฏิบัติตามวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อลดการสูญเสีย