In News
ธกส.จัดมาตรการช่วยเกษตรกรถูกน้ำท่วม บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
กรุงเทพฯ-ธกส.ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล จัดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
วันที่ 11 ตุลาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตรและผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความพึงพอใจต่อพี่น้องเกษตรกร
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล จัดมาตรการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติผ่านมาตรการ 1) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี 2) จ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ 3) ชำระดีมีคืน กรณีลูกค้ามาชำระหนี้ถึงกำหนด จะได้รับการคืนดอกเบี้ยร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริงไม่เกิน 2,000 บาทต่อราย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระทางการเงินแก่ลูกค้า ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธันวาคม 2565
ส่วนลูกค้าที่มีหนี้เป็นภาระหนัก ธ.ก.ส. วางแนวทางการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และฟื้นฟูศักยภาพลูกค้า เพื่อช่วยลดภาระหนี้สินและคลายความกังวลใจให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการ 1) จ่ายน้อย ผ่อนคลาย ได้ลดดอกเบี้ย โดยลูกค้าชำระหนี้อย่างน้อยร้อยละ 1 ของต้นเงิน ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ พร้อมกำหนดชำระหนี้ตามศักยภาพ แต่ไม่เกิน 20 ปี ในอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50) และ 2) ทางด่วนลดหนี้ สำหรับลูกค้าที่เป็นหนี้ NPL ณ 31 มีนาคม 2565 เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายสัญญา ธนาคารจะพิจารณาลดดอกเบี้ยค้างชำระตามสัดส่วน สำหรับลูกค้าที่มีหนี้ NPL ที่มีการโอนเพิ่มในปีบัญชี 2565 และมีสถานะ NPL ณ 31 สิงหาคม 2565 เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายสัญญา ธนาคารจะพิจารณาลดดอกเบี้ยค้างชำระตามสัดส่วน ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2565
นางสาวรัชดา กล่าวว่า ธ.ก.ส. ยังจัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกร เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท และ 2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 จึงขอให้เกษตรกรอย่ากังวลในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดย ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยดังกล่าว สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง