In News
เผยที่ประชุมขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรี เสนอนำ'กัญชา'บำบัดคนคลุ้มคลั่งยาบ้า
กรุงเทพฯ-ประชุมขับเคลื่อนผลักดันแนวทางการนำกัญชาช่วยลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่รุนแรง โดยนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ครั้งที่ 2/2565
นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ครั้งที่ 2/2565 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2565 เวลา 09:00 -12.00 น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้กล่าวถึงความสำคัญของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ความหมายคือ การลดปัญหา หรือภาวะเสี่ยงอันตราย การแพร่ระบาด การสูญเสียจากยาเสพติด เนื่องจาก มติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016) แนะนำให้ภาคีกำหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติด เพื่อผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เช่น การนำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (alternative development) มาปรับใช้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน
กัญชา ถูกนำมาใช้ในการลดอันตรายจากการใช้ยาและยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) ในต่างประเทศมีงานวิจัยในการนำสาร CBD (ซีบีดี) ในกัญชามาใช้บำบัดการติดยาแอมเฟตามีน เช่น ในแวนคูเวอร์ แคนาดา ปี 2021 มีโครงการใช้กัญชาเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ได้ สามารถทดแทนการใช้สารกลุ่มกระตุ้นจิตประสาทได้ถึง 50% ทดแทนการใช้โอปิออยด์ได้ถึง 31%, ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ปี 2021 การใช้กัญชาอาจเป็นทางเลือกทางการแพทย์ที่ปลอดภัยกว่าการใช้โอปิออยด์ เพิ่มการเข้าถึงการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ทางด้านทรัพยากรและการรักษา, ในโคโลราโด สหรัฐอเมริกาปี 2005 ในประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้กัญชา จะไม่ไปใช้ยาเสพติดที่รุนแรงกลุ่ม Hard drugs ฯลฯ ในประเทศไทยก็มีผลงานวิจัยองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยเรื่องนี้เช่นกัน เช่น ตำรับยาอดฝิ่นที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม
การประชุมในครั้งนี้ได้เน้นเรื่องการพัฒนาการนำกัญชามาใช้ในการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่รุนแรง เช่น ยาบ้า ซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบันของประเทศ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมสุขภาพจิต สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ฯลฯ มาช่วยกันพัฒนาจัดทำแนวทางลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) อย่างจริงจัง รวมถึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์ เพื่อรวบรวม พัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ในด้านกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย