Biz news

'มูลนิธิซิตี้-มูลนิธิซี.ซี.เอฟ'ช่วยเด็กชาวเขา เปิดห้องเรียนสอนอาชีพรับธุรกิจท้องถิ่น  



กรุงเทพฯ-มูลนิธิซิตี้และมูลนิธิซี.ซี.เอฟ พาเปิดห้องเรียนวิชาการเงินและอาชีพเยาวชนชาวไทยภูเขา ห้องเรียนสำคัญเพื่อการดำรงชีพ รองรับการขยายตัวของธุรกิจท้องถิ่น  

ในประเทศไทยมีกลุ่มชนพื้นเมืองมากมาย ซึ่งเรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่ากลุ่มชนพื้นเมืองถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ขาดโอกาสในหลาย ๆ ด้าน เมื่อพวกเขาขาดโอกาส ไม่ว่าจะเป็น การยอมรับ การขาดพื้นที่ทำกิน ขาดการได้รับการศึกษา ฯลฯ ก็ย่อมทำให้เกิดปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไหน ก็ควรได้รับการเรียนรู้ศึกษาอันเป็นพื้นฐานสำคัญ รวมถึงความรู้ในด้านการบริหารเงินและการออมเงิน ตลอดจนความรู้เรื่องการประกอบธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้เยาวชนกลุ่มชนพื้นเมืองเหล่านี้มีองค์ความรู้ที่จะมาช่วยดูแลและพัฒนาท้องถิ่น เป็นการกระจายความความเจริญทางสังคมให้อยู่ที่ท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวงเพื่อทำงาน

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิซิตี้ จึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำโครงการ “พัฒนาทักษะการเงินและอาชีพโรงเรียน” เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพให้เด็กและเยาวชนพื้นเมือง ให้มีความรู้และได้รับการกระตุ้นในการทำธุรกิจเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนมีทักษะการบริหารการเงิน การออม ที่จะช่วยให้สามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน ผ่านการสอนที่หลากหลายด้านอันประกอบไปด้วย

“ปูพื้นฐานด้วยโมเดลธุรกิจ”·การให้ความรู้เกี่ยวกับด้านธุรกิจผ่านการกำหนดรูปแบบของธุรกิจด้วย Business Model Canvas โดยเยาวชนพื้นเมืองจะได้คิดค้นการทำผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้

“ปลุกแรงบันดาลใจด้วยอาชีพในอนาคต”·การแนะแนวให้ความรู้ด้านอาชีพ (Career compass youth camp) ผ่านการแนะนำอาชีพที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน พร้อมให้เหล่าเยาวชนพื้นเมืองบรรยายถึงอาชีพที่ตนเองสนใจ เพื่อที่จะได้ทราบว่าเยาวชนชาวไทยภูเขาเหล่านี้มีความเข้าใจในเรื่องอาชีพการทำงานมากเพียงใด

“เสริมความรู้การเงินพื้นฐานที่ต้องมี”·การเพิ่มพูนความรู้ด้านทักษะทางการเงิน ผ่านการให้ความรู้เรื่องวิธีการคิดต้นทุน กำไร การจดบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายสำหรับตนเองและธุรกิจ เพราะหากมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทักษะทางการเงินก็จะสามารถทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงินได้

ทั้งนี้โครงการ “พัฒนาทักษะการเงินและอาชีพโรงเรียน” ได้นำร่องสอน เยาวชนพื้นเมืองไทย เผ่าลาหู่ เผ่าอาข่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจาก 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนดอยแสนใจ ตชด. อนุสรณ์ โรงเรียนบ้านมนตรีวิทยา และโรงเรียนผาขวางวิทยา รวมกว่า160 คน ซึ่งเยาวชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดออกมาเป็นแผนธุรกิจ อาทิ ผลิตภัณฑ์แกะสลักด้วยเครื่อง CNC ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ใผ่ ผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี่ ผลิตภัณฑ์จานชามใบไม้รักษ์โลก และผลิตภัณฑ์กาแฟ ซึ่งสามารถตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการส่งเสริมให้เยาวชนพื้นเมืองไทยมีความรู้และพฤติกรรมทางด้านการเงินและการออมเงิน ควบคู่ไปกับการมีทักษะด้านอาชีพ การเป็นผู้ประกอบการ สามารถดำรงชีพอยู่ภายในชุมชนและสามารถพัฒนาสังคมท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

มร. ทีบอร์ พานดิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย และผู้แทนมูลนิธิซิตี้ เผยว่า มูลนิธิซิตี้ มีเป้าหมายในการทำงานที่ส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนทั่วโลกให้ดีขึ้นด้วยการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพสำหรับเยาวชน รวมถึงสร้างสภาพเศรษฐกิจของชุมชนที่ดีขึ้น นอกจากการให้ความช่วยเหลือแล้ว มูลนิธิซิตี้ ยังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะสถาบันการเงินชั้นนำ และความพร้อมของพนักงาน ที่สนับสนุนให้พันธกิจของบริษัทประสบความสำเร็จ และขับเคลื่อนแนวคิดความเป็นผู้นำและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้โครงการ “พัฒนาทักษะการเงินและอาชีพโรงเรียน” ที่ร่วมกับมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพแก่เยาวชนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนชนพื้นเมืองในประเทศไทยที่พบว่ายังขาดโอกาสในหลาย ๆ ด้าน โดยจะเป็นการปูทางสู่การสร้างความมั่นคงในด้านรายได้ให้กับเยาวชน ครอบครัว ตลอดจนชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของมูลนิธิซิตี้รวมถึงซิตี้ทั่วโลกที่มุ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าทั้งในระดับบุคคล ตลอดจนชุมชนและสังคม อันเป็นหนึ่งแผนยุทธศาสตร์หลักเพื่อการพัฒนาของมูลนิธิซิตี้”