In News
สธ.เผย'ไทย'รับประเมินระบบสาธารณสุข 'แรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย'เป็นปท.แรก
นนทบุรี-ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย “ไทย” เป็นประเทศแรก เข้ารับการประเมินศักยภาพระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ลี้ภัย ผู้ย้ายถิ่นฐาน และแรงงานต่างด้าว โดยผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคมนี้ เนื่องจากมีระบบการดูแลอย่างดีช่วง “โควิด” เตรียมลงพื้นที่ 3 จังหวัดเป้าหมาย “กทม.-สมุทรสาคร-ตาก” ก่อนสรุปข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบบริการต่อไป
วันนี้ (17 ตุลาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมการเพื่อรับการประเมินประเทศไทยและลงพื้นที่ในจังหวัดกลุ่มเป้าหมาย ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2565 โดยมีผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย คณะผู้เชี่ยวชาญของไทยและองค์กรระหว่างประเทศ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นพ.โอภาสกล่าวว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกดำเนินการโครงการ Joint Assessment Mission to Assess Health System Capacity and Essential Public Health Functions to Address the Health Needs of Refugees and Migrants in Thailand โดยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์กรระหว่างประเทศมาปฏิบัติภารกิจประเมินประเทศไทยร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญไทย จำนวน 7 คน และผู้สังเกตการณ์ 3 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน ระหว่างวันที่ 17-21 ตุลาคม 2565 ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องระบบสุขภาพ หน้าที่ ศักยภาพ และกระบวนการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น ความพร้อมของสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการแก่ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นฐาน รวมถึงชุมชนที่รับกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยจะมีการลงพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย คือ กทม. สมุทรสาคร และตาก
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กองบริหารการสาธารณสุขเป็นผู้ประสานงานโครงการฯ โดยให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การอนามัยโลก (ประเทศไทย), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค และกองการต่างประเทศ จัดการประชุมเตรียมการเพื่อรับการประเมินประเทศไทยและลงพื้นที่ในจังหวัดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย ผู้ย้ายถิ่นฐาน คนต่างด้าว และแรงงานต่างด้าว ได้แก่ กระทรวงแรงงาน, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, สำนักตรวจคนเข้าเมือง องค์กรไม่แสวงหากำไร และมูลนิธิต่างๆ เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลและให้ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับการประเมินนั้น องค์การอนามัยโลกร่วมกับเครือข่าย ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration:IOM ) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees:UNHCR) พัฒนาเครื่องมือ “การประเมินสภาวะสุขภาพของประชากรข้ามชาติ และผู้ลี้ภัยระดับประเทศ” เพื่อประเมินระบบสุขภาพ กระบวนการดำเนินงาน และศักยภาพความพร้อมของสถานบริการสาธารณสุขในการให้บริการสุขภาพที่จำเป็นแก่ประชากรข้ามชาติและผู้ลี้ภัยในระดับประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้รับโอกาสให้เป็นประเทศแรกที่ใช้เครื่องมือนี้
“ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความชื่นชมว่า บริหารจัดการด้านการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ ให้การดูแลสุขภาพคนต่างด้าว แรงงานต่างด้าว ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ในแผ่นดินไทย โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 19 ให้สามารถเข้าถึงบริการรักษาและได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียม ตานโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข “เราจะดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทยให้ได้รับบริการทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษา การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญ อย่างเท่าเทียมกัน” สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะด้านสาธารณสุขของกลุ่มคนต่างด้าวในประเทศไทย จากองค์กรภายนอก เพื่อนำไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในทุกมิติของระบบบริการสาธารณสุขสำหรับคนต่างด้าวทุกคน และสร้างโอกาสในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว