In News
ก.เกษตรเตรียมพร้อมรับอุทกภัยในภาคใต้ ชู13มาตรการรับมือ/ส่งชป.ระวังจุดเสี่ยง
เพชรบุรี-กระทรวงเกษตรฯ พร้อมรับเหตุอุทกภัยฝนใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65มอบกรมชลประทานติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือทุกจุดเสี่ยง มั่นใจสามารถเข้าช่วยพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและความพร้อมในการป้องกันเหตุอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี ณ โครงการชลประทานเพชรบุรี อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งจากผลกระทบของพายุดีเปรสชั่นที่ก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ทางตอนใต้ของประเทศไทยมีฝนตกหนักในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายนนี้ จึงมีข้อสั่งการให้กรมชลประทานดำเนินการรับมือฤดูฝนปี 65 ตามมาตรการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด ทั้งการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดสำหรับให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ 24 ชั่วโมง มีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์
สำหรับสถานการณ์ฝนตกสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมงในจังหวัดเพชรบุรี อยู่ที่อำเภอแก่งกระจาน ปริมาณ 3.5 มิลลิเมตร ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ต.ค. 65) สถานการณ์อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี รวม 760 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 69 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 158 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 52 แห่ง มีปริมาณน้ำเก็บกัก 13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 รวมปริมาณน้ำเก็บกัก 932 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 70 และแม่น้ำเพชรบุรี (B9) แม่น้ำเพชรบุรี (B16) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.86 เมตร และ 5.49 เมตร ตามลำดับ สถานการณ์ลำน้ำธรรมชาติยังอยู่ในสภาวะปกติ
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัดเพื่อการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจำนวน 6 จุด ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ใน อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม จึงได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณดังกล่าว และในพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นในจังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 17 ตำบล 6 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 45 หน่วย และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 44 หน่วย รวมเครื่องมือเครื่องจักรจำนวน 89 หน่วย
นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรียังได้มีการรายงานความเสี่ยงหายเบื้องต้นจากอุทกภัย (ด้านพืช) (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ต.ค. 65) พบว่า มี 3 อำเภอที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ อำเภอเขาย้อย อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ รวม 19 ตำบล 112 หมู่บ้าน 1,274 ครัวเรือน ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 86,141.25 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรประสบภัย 12,610 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 6,249 ไร่ แบ่งเป็น ข้าวประสบภัย 4,801 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 2,686 ไร่ พืชไร่และพืชผักประสบภัย 2,904.25 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 1,623.25 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นประสบภัย 4,894.75 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 1,939.75 ไร่
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ยังได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณบึงจะกาดพลี ต.ชะอำ อ.ชะอำเพื่อรับฟังแนวทางการสูบน้ำเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยเมืองชะอำ ติดตามการทำงานของประตูระบายน้ำมาบปลาเค้า พร้อมกดปุ่มยกบานประตูระบายน้ำ ติดตามการทำงานของจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ บริเวณวัดเขาตะเครา ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี รับฟังการบรรยายระดับการแจ้งเตือนของระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ณ สะพานรถไฟ (หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัด และติดตามการทำงานของระบบ Hydro flow ณ จุดติดตั้งที่ประตูระบายน้ำคลอง D.26 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
"การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อมาตรวจราชการและติดตามมาตรการการป้องกันอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงมาดูมาตรการป้องกันในครั้งนี้ด้วย จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถรับมือกับพายุที่จะเข้ามาในจังหวัดเพชรบุรีได้ ซึ่งได้เตรียมความพร้อมไว้รับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เตรียมพร้อมตลอด 24 ชม. เพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที หากเกิดพายุหรือฝนตกหนัก อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งปี โดยต้องดูปริมาณน้ำต้นทุนและวางแผนอย่างเป็นระบบ รวมถึงช่องทางการระบายน้ำ ทั้งการเพิ่มคลองระบายน้ำ การกำจัดวัชพืช และการตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ไว้ผลักดันน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน ก็จะลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ สำหรับพี่น้องชาวเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และขอให้มั่นใจต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการทุกส่วน ที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเต็มกำลังเพื่อลดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด" ดร.เฉลิมชัย กล่าว