In News
นายกฯวางรากฐานระบบศก.สู่ความยั่งยืน ชู EEC เป้าหมายเศรษฐกิจแห่งอนาคต
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ วางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคตอย่างยั่งยืน เร่งส่งเสริมการลงทุนและขับเคลื่อนโครงการของ EEC ไปสู่เป้าหมายเศรษฐกิจแห่งอนาคต New Engine of Growth
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วางวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ ผ่านการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งการส่งเสริมการลงทุน “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” และ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” โดยมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 แล้ว ดังนี้
1) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) จำนวน 758 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 394,012 ล้านบาท และ 2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) จำนวน 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 553 ล้านบาท รวมไปถึงการจัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุน โดยสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) จัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้มาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหอการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
(1) อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โดยประเทศที่สนใจลงทุน คือ ญี่ปุ่น
(2) อุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศที่สนใจลงทุน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อิตาลี และสิงคโปร์ และ
(3) อุตสาหกรรมด้านดิจิทัล ประเทศที่สนใจลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ทั้งนี้ มีบริษัทสัญชาติจีนซึ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปี 2565 และจะสามารถเดินสายการผลิตได้ภายในปี 2567
“ล่าสุดกับการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อขยายความร่วมมือด้านการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดย สกพอ. และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงค์กิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อขยายความร่วมมือด้านการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนญี่ปุ่น ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการผลิตผ่านกลไกในการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ” นายอนุชาฯ กล่าว
นายอนุชาฯ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าโดยลำดับตามแผนที่กำหนด โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ การปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน มีความคืบหน้า ร้อยละ 91.86 โครงการงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น มีความคืบหน้า ร้อยละ 74.31 โครงการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเย็น มีความคืบหน้า ร้อยละ 90.46 และโครงการงานระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน มีความคืบหน้า ร้อยละ 8.17
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ EEC นั้น รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคต (New Engine of Growth) โดยดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองใหม่ เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นระบบ และสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมการประกอบพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยังได้มีการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว มุ่งให้เกิดประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนหรือชุมชนด้วย.