In News
อนุมัติแผนกู้เงินแผนชำระหนี้กองทุนน้ำมัน ย้ำเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
กรุงเทพฯ-ครม. อนุมัติแผนกู้เงิน และแผนชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ย้ำเป็นการอนุมัติแผนฯในรายละเอียด ตามกรอบที่ครม. เคยเห็นชอบแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ บรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
วันที่ 25 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในวงเงิน 150,000 ล้านบาท พร้อมมอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถพิจารณาปรับแผนการกู้เงิน และแผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ตามความเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะด้วย
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เสนอแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 โดยจะทยอยกู้เงินจำนวน 8 ครั้ง วงเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 (กู้ยืม ครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2566 และทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือนตุลาคม 2572
โดยการชำระหนี้การกู้ยืมเงิน 150,000 ล้านบาท จะมีแหล่งชำระคืนจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งจะสามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วนภายใน 7 ปี โดยจะทยอยชำระหนี้คืนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบถ้วนภายในเดือนตุลาคม 2572
ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 125,690 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยึดเยื้ออันส่งผลกระทบให้ในช่วงพฤศจิกายน 2565 - กุมภาพันธ์ 2566 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และปัญหาอุทกภัย รัฐบาลจึงเห็นถึงความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กองทุนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ โดย ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นี้มีรายจ่ายสุทธิประมาณ 222 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,882 ล้านบาทต่อเดือน