In News
รัฐฯเผย'โควิด'กระทบไทยรุนแรงแค่ปี63 แต่ปี64ปรับตัวดีขึ้นด้วยแรงกระตุ้นศก.
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลเผย แม้ไทยได้รับผลกระทบ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงในปี 2563 แต่ในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.4
วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวรุนแรง โดยปี 2563 หดตัวถึงร้อยละ 6.2 ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.2 ในปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน และในปี 2563-2564 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการเพื่อลดผลกระทบและเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาด อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม. 33 เรารักกัน และโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ รวมถึงการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มลดระดับความรุนแรงลง มีการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 6.2 ในปี 2563 อัตราการว่างงานปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
“สศช. ยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยังคงได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด” นายอนุชาฯ กล่าว